(7 ก.พ. 66) นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการ ร่วมตรวจวัดควันดำรถยนต์ รถบรรทุกขนส่งสินค้า ณ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดย กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตคลองเตย ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กรมการขนส่งทางบก และงานตรวจพิสูจน์มลภาวะ กองกำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจจราจร (กก.5บก.จร.) ตั้งจุดตรวจวัดควันดำรถบรรทุกขนส่งสินค้าที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล และเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ณ การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริเวณจุดประตูเขื่อนฝั่งตะวันออก (ฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจนครบาลการท่าเรือ) เขตคลองเตย
ที่ปรึกษาฯ พรพรหม เปิดเผยว่า บริเวณการท่าเรือฯ มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการเฝ้าระวังค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากต้นตอ ไม่ให้เกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตั้งจุดตรวจควันดำรถบรรทุกในวันนี้ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จะมีรถเข้าออกการท่าเรือฯ 🚢 วันละหลักร้อยถึงพันคัน การงดใช้รถควันดำเกินค่ามาตรฐานจะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ได้อีกทาง
ซึ่งในการตรวจรถควันดำนั้นจะมี 3 พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง คือ พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ของกรมการขนส่งทางบก พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ของกรมควบคุมมลพิษ และพระราชบัญญัติจราจรทางบก ของตำรวจ สำหรับรถที่มีควันดำเกินค่ามาตรฐานต้องหยุดใช้รถชั่วคราวและนำรถไปปรับปรุงให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนแล้วนำรถไปตรวจสภาพอีกครั้งว่ามีค่าควันดำไม่เกินตามที่กำหนดไว้ ซึ่งหากผ่านเกณฑ์ที่กำหนดแล้วจึงจะสามารถนำรถกลับมาใช้ได้
🚛โดยกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้ตรวจรถบรรทุก ซึ่งหากพบรถค่าควันดำเกินมาตรฐาน จะมีการออกหนังสือระงับการใช้รถ และพ่นเครื่องหมาย “ห้ามใช้” ไว้ที่กระจกหน้ารถ และต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท โดยหากเจ้าของรถจะใช้รถคันดังกล่าวอีกจะต้องนำรถไปปรับปรุงให้ได้ค่ามาตรฐานตามที่กำหนด แล้วนำรถเข้าตรวจสภาพที่ สำนักงานขนส่ง หรือสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ทั่วประเทศได้ทุกจังหวัด ทุกสาขาที่สะดวก เมื่อผลการตรวจว่าผ่านเกณฑ์แล้ว เจ้าหน้าที่จะทำการลบ เครื่องหมาย “ห้ามใช้” ออก และยกเลิกคำสั่งห้ามใช้รถ จากนั้นสามารถนำรถกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่หากมีการฝ่าฝืนนำรถไปใช้โดยที่ยังไม่มีการแก้ไข แล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบอีกครั้งจะระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 50,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก กก.5บก.จร. และกรมควบคุมมลพิษ จะเป็นผู้ตรวจรถยนต์ดีเซลส่วนบุคคล หากตรวจพบว่ามีควันดำเกินค่ามาตรฐาน จะติดสติ๊กเกอร์ “ห้ามใช้ชั่วคราว” ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท (โดยต้องจ่ายค่าปรับภายใน 7 วัน) ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และให้นำรถไปแก้ไขปรับปรุงภายใน 30 วัน จากนั้นนำรถเข้าตรวจสภาพได้ที่ สำนักงานขนส่งทุกจังหวัด ทุกสาขา หรือด่านตรวจควันดำในพื้นที่กรุงเทพฯ และกรมควบคุมมลพิษ เมื่อผลตรวจว่าค่าควันดำไม่เกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะ และสามารถนำรถกลับมาใช้งานได้ หากมีการฝ่าฝืนนำรถที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานและมีคำสั่ง “ห้ามใช้ชั่วคราว” มาใช้โดยที่ยังไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องจะมีความผิดระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
——————————- (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)