ณ อาคารธานีนพรัตน์ กทม.2 ดินแดง : นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมแก้ปัญหาการจราจรโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาช่วงที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ช่วงที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงเตาปูน-ผ่านฟ้า และช่วงที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ซึ่งทั้ง 3 สัญญา อยู่ในพื้นที่เขตพระนคร ดุสิต และบางซื่อ
ในที่ประชุม ได้รายงานภาพรวมแผนการดำเนินการของโครงการ ซึ่งพื้นที่สัญญาช่วงที่ 1 และ2 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนสัญญาช่วงที่ 3 อยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่ แผนการปิดเบี่ยงการจราจรในเส้นทางโครงการก่อสร้าง รวมถึงการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อให้ประชาชนสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางและบริหารจัดการการเดินทางล่วงหน้าได้ ซึ่งประกอบด้วย การติดตั้งป้ายบริเวณสะพานลอยล่วงหน้า 30 วัน การติดป้ายบริเวณทางเท้าล่วงหน้า 7-10 วัน การแจ้งตำแหน่งป้ายยกเลิกที่หยุดรถประจำทาง การประชาสัมพันธ์ผ่านใบปลิวล่วงหน้า 3-5 วัน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ในสถานศึกษาในพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชน และสื่อออนไลน์ต่างๆ
รองผู้ว่าฯวิศณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าโครงการก่อสร้างหลายแห่งมีการกั้นแบริเออร์และปิดการจราจรเกินความจำเป็นโดยเฉพาะในพื้นที่ถนนเป็นคอขวด ทำให้รถไม่สามารถสัญจรได้โดยสะดวก และติดขัดสะสมในช่วงเวลาเร่งด่วนปริมาณมากอาทิเช่น บริเวณย่านบางกะปิ ซึ่งได้สั่งการให้รื้อออกบางส่วนและพบว่าทำให้การจราจรดีขึ้น โดยได้รับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากผู้รับจ้างเป็นอย่างดี นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้รับการร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านระบบ Traffy Fondue จำนวนมาก จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหาSolutionในการแก้ปัญหาในวันนี้ ซึ่งไม่ใช่Solution ชั่วคราว แต่จะเป็นการแก้ปัญหาแบบถาวรเนื่องจากการก่อสร้างนี้จะใช้เวลานาน
ทั้งนี้รองผู้ว่าฯ วิศณุ ได้ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย การประสานกับGoogle Mapเพื่อแจ้งพิกัดที่มีการก่อสร้างเพื่อให้ประชาชนสามารถหลีกลี่ยงได้ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนนิยมใช้Google Mapเพื่อวางแผนการเดินทาง การปรับสัญญาณไฟเดินข้าม จากสีแดงเป็นการกระพริบเนื่องจากปกติแล้วพื้นที่ก่อสร้างรถติดขัด การกระพริบจะเป็นการเตือนให้ผู้ขับขี่เพิ่มความระมัดระวัง และประชาชนสามารถข้ามได้ การจัดบริการรถFeeder เพื่อรับส่งนักเรียนในพื้นที่กับจุดจอดรับส่งระยะไกลซึ่งอยู่นอกพื้นที่ ในช่วงเวลาเร่งด่วน เช้า-เย็น การหาอาคารจอดรถเพื่อให้บริการประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณที่มีการปิดการจราจรและไม่สามารถนำรถกลับไปจอดบริเวณที่พักอาศัยของตนเองได้
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามปัญหาดังกล่าว พบว่าบริเวณแยกบางขุนพรหมต่อเนื่องถึงบางลำภูขณะนี้มีปัญหาการจราจรติดขัดสะสม และเมื่อมีรถปริมาณมากทำให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษตามมา ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีสถานที่สำคัญ หน่วยงานภาครัฐ โรงพยาบาลและโรงเรียนหลายแห่ง รวมทั้งยังมีชุมชนในพื้นที่ ซึ่งร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง สำหรับการบูรณาการการแก้ไขในครั้งนี้จะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรในช่วงเวลานี้ได้จนถึงปิดเทอม ซึ่งการจัดการจราจรในซอยเบี่ยง การคืนผิวการจราจรารเป็นเรื่องสำคัญ และได้ให้คำแนะนำผู้รับจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นต่างๆ อาทิ ให้เร่งระยะเวลาการทำงานให้เร็วขึ้นเพื่อลดปัญหาเรื่องเสียงและฝุ่น การดำเนินการป้องกันฝุ่นโดยปิดกั้นพื้นที่ก่อสร้าง การจัดทีมเชิงรุกลงพื้นที่เพื่อชี้แจงแผนการทำงานและรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียนเป็นการเฉพาะเพื่อลดภาระของTraffy Fondue
รวมถึงมอบหมายให้รฟม.พิจารณาหารถFeeder และสำนักงานเขตพื้นที่ประสานกับสำนักการจราจรและขนส่งและสถานศึกษาในพื้นที่เพื่อหาจุดจอดรับ-ส่งที่เหมาะสม การจัดทำทางเดินข้ามโดยใช้สัญญานไฟกระพริบโดยให้ทดลองดำเนินการ 1 เดือน และประเมินผล ทั้งนี้มาตรการที่ดำเนินการทั้งหมดจะใช้ตัวชี้วัดจากTraffy Fondue กำหนด หากพบว่าเรื่องร้องเรียนมีจำนวนน้อยลงหมายถึงหน่วยงานแก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งจะมีการประเมินผลในภาพรวมอีก 3 เดือน จากนั้นจะประชุมเพื่อหารือแนวทางอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมวันนี้ ประกอบด้วย พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขตพระนคร ดุสิต บางซื่อ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) สถานีตำรวจพื้นที่ และกิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล
—————————-