– กทม.ยกระดับป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 แนะกลุ่มเปราะบางหลีกเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอกจัดเตรียมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่น PM2.5 ที่สูงจนมีผลกระทบต่อสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยเหลือและให้ความรู้ประชาชน รวมถึงจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชน พร้อมรายงานสถิติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละออง เพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น หากมีรายงานค่าฝุ่นในพื้นที่ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จะมีมาตรการ ดังนี้ (1) ฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึกที่ได้ติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล (รพ.) (2) เปิดศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (3) รพ.ในสังกัด กทม.เปิดคลินิกมลพิษทางอากาศ ได้แก่ รพ.ตากสิน โทร.02 437 0123 ต่อ 1426, 1430 (วันจันทร์-วันศุกร์ ยกเว้นวันพุธและวันหยุดราชการ เวลา 09.00 – 12.00 น.) รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10811 (วันอังคารและวันศุกร์ เวลา 08.00 – 12.00 น.) รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.02 444 0163 ต่อ 8946 (วันอังคาร เวลา 08.00 – 16.00 น.) รพ.สิรินธร โทร.02 328 6901 (วันอังคาร เวลา 13.00 – 16.00 น.) และ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 289 7225 (วันพุธ เวลา 13.00 – 15.00 น.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ประชาชนและให้บริการตรวจรักษาลดความรุนแรงของอาการที่เกิดจากฝุ่น PM2.5
นอกจากนั้น ยังได้สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศนิ่งและปิด โดยพื้นที่เฝ้าระวัง ได้แก่ พื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ (พื้นที่ท้ายลม) ได้แจ้งเตือนประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้งปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
– กทม.ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในเขตบางนา – ประเวศป้องกันผลกระทบจากเหตุไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาใหม่
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศและเฝ้าระวังผลกระทบด้านมลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่เกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการว่า กรุงเทพมหานคร โดย สสล.ได้ติดตามและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ ผ่านสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่น PM2.5 ระหว่างวันที่ 30 – 31 ม.ค.66 ในพื้นที่เขตใกล้เคียงบริเวณที่เกิดเหตุไฟไหม้บ่อขยะแพรกษา จ.สมุทรปราการ ประกอบด้วย สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เขตบางนา โดยผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ระหว่าง 40 – 74 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานในวันที่ 31 ม.ค.66 (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจวัดได้ระหว่าง 77 – 122 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานในวันที่ 31 ม.ค.66 (มาตรฐานไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) และสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตประเวศ โดยผลการตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจวัดได้ระหว่าง 46 – 75 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานในวันที่ 31 ม.ค.66 (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจวัดได้ระหว่าง 87 – 123 มคก./ลบ.ม. เกินมาตรฐานในวันที่ 31 ม.ค.66 (มาตรฐานไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.)
ขณะเดียวกันยังได้ประสานความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และสำนักอนามัย กทม.ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.สมุทรปราการ รวมทั้งแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบ ผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ www.airbkk.com, www.pr-bangkok.com, และเพจเฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และเพจเฟซบุ๊กกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีพื้นที่ใกล้กับบ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบเรื่องสารพิษจากควันไฟ ได้ติดตามและตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน วางแผนการทำงาน การทำกิจกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุเพลิงไหม้บริเวณบ่อขยะ หรือศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยว่า สปภ.ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อ หรือใกล้เคียงประสานรับการสนับสนุนจาก กทม.รวมถึงการรับมือเหตุเพลิงไหม้ที่อาจจะเกิดขึ้นในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.และสถานที่กำจัดขยะและสถานที่แปรรูปเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ทุกขนาดในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนั้น ยังได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังการลักลอบเผาพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณใกล้เคียงและอาจลุกลามมายังสถานที่กำจัดขยะ การลักลอบเผากำจัดขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งกำชับสถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนตระหนักและมีส่วนร่วมป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในบ้านเรือนและพื้นที่บริเวณโดยรอบชุมชนของตนเอง ตลอดจนเร่งดับเพลิงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มีน้อยที่สุด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุทางโทรศัพท์สายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
– กทม.ตรวจสอบสาเหตุถนนพระราม 3 ทรุดตัว เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยโครงการก่อสร้างหน่วยงานสาธารณูปโภค
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุผิวจราจรทรุดตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่บริเวณถนนพระราม 3 ซอย 51 และ 53 มุ่งหน้าคลองเตยว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนย.ได้ตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินโครงการพระราม 3 (3/2) ดำเนินการโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งพื้นผิวจราจรบริเวณที่ทรุดตัวเป็นหลุม เกิดจากดินที่เจาะ เพื่อทำท่อร้อยสายด้วยวิธี HDD ไหลเข้าบ่อพัก เบื้องต้น กฟน.ได้ซ่อมแซมคืนสภาพ โดยเทคอนกรีตแล้วเสร็จและเปิดการจราจรให้รถสามารถสัญจรได้ตามปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม สนย.ได้เข้มงวดติดตามตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานสาธารณูปโภคในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นประจำตามวงรอบ หากพบปัญหาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน รวมถึงถนนที่ชำรุดเสียหาย จะแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคให้เร่งแก้ไขป้องกันผลกระทบต่อประชาชน หากปัญหายังไม่ได้ข้อยุติ สนย.จะระงับการก่อสร้างชั่วคราว จนกว่าจะแก้ไขให้เรียบร้อย จึงจะอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป