(31 ม.ค. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ว่า สถานการณ์ PM2.5 ในช่วงนี้ (1 – 4 ก.พ. 66) มีฝุ่นรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิด รวมถึงมีการเผาชีวมวล และหลังจากวันที่ 5 ก.พ. 66 สถานการณ์จะบรรเทาลงถึงดีขึ้น เนื่องจากลมอาจมีการเปลี่ยนทิศ
อย่างไรก็ตาม ทางกทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มีการตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ (ต้นตอฝุ่น) 2 ครั้ง/เดือน ดังนี้ สถานประกอบการ/โรงงาน 1,044 แห่ง ตรวจสอบจำนวน 4,028 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 7 แห่ง ตรวจแพลนท์ปูน 133 แห่ง จำนวน 522 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 16 แห่ง ตรวจสถานที่ก่อสร้างโดยสำนักการโยธา 399 แห่ง จำนวน 392 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 1 แห่ง ตรวจสถานที่ก่อสร้างโดยสำนักงานเขต 274 แห่ง 773 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 26 แห่ง ตรวจถมดินท่าทราย 9 แห่ง รวม 67 ครั้ง ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง 1,288 คัน พบเกินค่ามาตรฐานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 10 คัน ตรวจควันดำรถยนต์ 58,871 คัน สั่งห้ามใช้ 1,245 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทาง 9,269 คัน สั่งห้ามใช้ 43 คัน ตรวจรถบรรทุก 31,072 คัน สั่งห้ามใช้ 135 คัน (ข้อมูล ณ 30 ม.ค. 66) ทั้งนี้ เรามีการตรวจต้นตอฝุ่นอย่างต่อเนื่อง และทำแอปพลิเคชันเพื่อให้ประชาชนได้ใช้กัน
สำหรับสิ่งที่กำชับให้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น คือ การพยากรณ์ฝุ่นควรมีความแม่นยำมากขึ้น เพราะส่งผลต่อการเตือนภัยประชาชน และการประสานงานขอความร่วมมือจากพื้นที่รอบนอกเรื่องการเผาชีวมวล
ด้านแนวทางการรับมือกับฝุ่นในช่วง 2-3 วันนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ขอความร่วมมือในการทำงานแบบ Work from Home เพื่อลดการเดินทาง โดยเราได้ประกาศของความร่วมมือบนช่องทางการสื่อสารของกทม. และมีเครือข่ายติดต่อกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อขอความร่วมมือด้วย ตอนนี้มีบริษัทที่ให้ความร่วมมือทำงานแบบ Work from Home จำนวน 33 บริษัท อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องประกาศปิดโรงเรียน
ส่วนการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น ทางสำนักอนามัยได้มีการแจกหน้ากากอนามัยแก่กลุ่มเปราะบางไปแล้วกว่าล้านชิ้น รวมถึงสำนักการแพทย์ได้มีการเปิดคลินิกฝุ่น (คลินิกมลพิษทางอากาศ) ในโรงพยาบาล 5 แห่ง (โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร) และมีหน่วยงานลงตรวจต้นตอฝุ่นอยู่ตลอด ซึ่งสุดท้ายแล้ว การลดต้นตอฝุ่นบางเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น รถยนต์ในกทม. หรือขนส่งมวลชน หากจะเปลี่ยนเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) กทม.อาจมีส่วนเพียงการสนับสนุนในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น แต่เป็นการวางแผนในระยะยาว ทั้งนี้ ในด้านการวิจัย เราจะต้องรู้ให้ชัดว่าต้นตอของฝุ่นนั้นมีองค์ประกอบจากอะไรเป็นหลัก เพื่อให้แก้ไขได้อย่างตรงจุด ในส่วนนี้นักสืบฝุ่นได้พยายามวิเคราะห์หาคำตอบ และเราได้หารือกับกรมควบคุมมลพิษอยู่อย่างต่อเนื่อง
● เร่งรัดแก้เรื่องคงค้าง Traffy Fondue สั่งดำเนินการเชิงรุกมากขึ้น
สำหรับเรื่อง Traffy Fondue ซึ่งประชาชนแจ้งเรื่องแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแจ้งเรื่องเข้ามากว่า 2 แสนเรื่อง โดยมีเรื่องไปค้างอยู่ที่สำนักการโยธา (สนย.) สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) และสำนักงานเขต ซึ่งสำนักงานเขตสามารถจัดการเรื่องได้ค่อนข้างดี ดำเนินการแล้วเสร็จไปเกือบ 90% ในส่วนของ สนย. มีเรื่องแจ้งเข้ามาทั้งหมด 30,205 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 10,310 เรื่อง กำลังดำเนินการ 14,584 เรื่อง โดยเรื่องค้างส่วนใหญ่จะอยู่ที่โยธา เพราะเป็นปัญหาที่ต้องใช้งบประมาณเยอะ เช่น ถนนพัง ซึ่งได้สั่งการให้ สนย. เร่งรัดในการแก้ปัญหา สำหรับ สจส. มีเรื่องแจ้งเข้ามาทั้งหมด 11,710 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 5,793 เรื่อง กำลังดำเนินการ 4,923 เรื่อง ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้เราต้องปรับปรุงการให้บริการให้ดีขึ้น และได้สั่งการให้ สจส. เร่งรัดในการแก้ปัญหาเช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะต้องของบประมาณเพิ่ม จัดการปัญหาเชิงนโยบาย หรือดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอื่น
สิ่งที่เปลี่ยนไปในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา คือการแก้ปัญหาในระดับเส้นเลือดฝอยให้ประชาชน ซึ่งเราแก้ปัญหาไปเกือบ 2 แสนเรื่องแล้ว โดยไม่ต้องรอให้ผู้ว่าฯ สั่งการ เพราะเมื่อ ผอ.เขต เห็นปัญหา ก็สามารถระดมสรรพกำลังลงไปแก้ไขได้ทันที จากนี้ก็ต้องปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น และต่อไปก็จะเป็นการทำในเชิงรุกมากขึ้น เพราะจำนวนที่รับแจ้งน้อยลง ปัญหาที่สะสมถูกแก้ไปเยอะแล้ว โดย 3 เรื่องหลักที่ได้รับแจ้งมาและเป็นหัวใจในการดำเนินการคือเรื่องถนน ทางเท้า และแสงสว่าง ซึ่งจะติดตามความคืบหน้ากับผู้บริหารอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในส่วนของการแก้ปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่กรุงเทพฯ ทาง สนย. ได้รายงานผลการดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบ และการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแสงสว่างสาธารณะ พบว่าในกรุงเทพมหานครมี 98,688 ดวง ไฟฟ้ายังดับอยู่ 8,943 ดวง แก้ไขแล้ว 3,285 ดวง ขณะนี้ได้มอบหมายให้ สนย. เร่งดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นภายในไม่เกิน 2 เดือนนี้ และจะมีการติดตั้งหลอดแบบ LED เพิ่มเติมอีกด้วย
● ผู้ว่าฯ ย้ำ ยึดหลักโปร่งใส ยุติธรรม ในการเลือกตั้ง ส.ส. ปีนี้
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับการเตรียมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็มีกระบวนการที่ต้องเตรียมตัวพอสมควร เพราะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เป็น 33 เขตเลือกตั้ง ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการส่งรายละเอียดรูปแบบการแบ่งเขตมาให้เราติดประกาศที่เขต เพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นไปยัง กกต. สุดท้ายแล้ว กกต. จึงจะสรุปรูปแบบการแบ่งเขต โดยทางเราก็ต้องเตรียมเรื่องการดำเนินการต่าง ๆ ให้พร้อม อย่างไรก็ตาม ได้มีการเน้นย้ำหลักสำคัญในเรื่องของความโปร่งใสและความยุติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้คนเชื่อมั่นในผลของการเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ส่วนงบประมาณด้านการเลือกตั้งคงต้องเบิกจากทาง กกต. โดยตรงต่อไป
● กทม.พร้อมเป็นเจ้าภาพร่วมจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2025 ส่งเสริมด้านกีฬาและกระตุ้นเศรษฐกิจเมือง
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2025 (พ.ศ. 2568) ว่า กีฬาซีเกมส์ที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นครั้งที่ 33 มีกำหนดการแข่งขันระหว่างวันที่ 9 – 20 ธันวาคม 2568 คณะอนุกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกให้กรุงเทพมหานคร จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสงขลา เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 โดยมี 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม ซึ่งกทม.ได้เตรียมความพร้อม 10 ด้าน ประกอบด้วย สนามแข่งขัน สนามฝึกซ้อม ที่พัก สถานพยาบาล คมนาคม สถานศึกษา การตลาดและสิทธิประโยชน์ บุคลากร/อาสาสมัคร สาธารณูปโภค เทคโนโลยีสารสนเทศ และงบประมาณ โดยจะมอบหมายให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว วางแผนเตรียมสถานที่และงบประมาณให้พร้อมควบคู่ไปกับการฝึกฝนนักกีฬา และสั่งให้มีการเตรียมแผนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากจะเป็นการจัดแข่งขันกีฬาแล้ว อีกมิติหนึ่งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองที่สำคัญ เป็นการดึงนักท่องเที่ยว นักกีฬา จาก 11 ประเทศสมาชิกเข้าร่วม สร้างความคึกคักให้กับเศรษฐกิจในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีภาครัฐ ภาคเอกชนจากภาคธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ห้องอาหาร ที่พักต่าง ๆ ร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยกัน
—————————