เริ่มนำร่อง 10 เขต BKK Food Bank รับอาหารส่วนเกินร้านสะดวกซื้อส่งต่อกลุ่มคนเปราะบาง
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการ Food Bank เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มคนเปราะบาง 10 เขตพื้นที่นำร่อง ว่า ในพื้นที่ 10 เขตนำร่องจะเป็นการบริจาคประจำลักษณะจะคล้ายกับของเขตพระนคร โดยจะประสานกับร้านสะดวกซื้อหลายๆ เจ้า ในพื้นที่ ที่มีอาหารที่ต้องถ่ายออกแต่เป็นอาหารที่ยังไม่เสีย ซึ่งเราจะรับไปที่จุดแจกของ ทางเขตนำไปแจกต่อ จะเริ่มได้ ในสัปดาห์หน้านี้ โดยจะมีการ ประเมินก่อนขยายต่อไปทั้ง 50 เขต ทั่วกทม.
สำหรับ 10 เขตนำร่อง กรุงเทพมหานครโดยสำนักพัฒนา สังคมและสำนักงานเขต ดำเนินการ ร่วมกับ 2 มูลนิธิ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ โดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (มูลนิธิ SOS ประเทศไทย) ดูเขตบางขุนเทียน บางแค ภาษีเจริญ คลองสาน บางพลัด และบางกอกน้อย ความคืบหน้าทางมูลนิธิฯ ได้นำสาขา 7-11 ที่จะร่วมดำเนินงานมาให้เขต เลือกจับคู่ และเลือกชุมชนที่จะรับอาหารแล้ว อยู่ระหว่างความพร้อม ของผู้บริจาค 7-11 ที่จะประสานนำอาหารมามอบ ส่วนมูลนิธิวีวี แชร์ (VV SHARE) จะดูเขตพระโขนง ลาดกระบัง คลองเตย และ ประเวศ อยู่ระหว่างหาผู้บริจาคให้ครบตามจำนวน โดยสำนักพัฒนาสังคมได้จัดหาอุปกรณ์ในการดำเนินงาน เช่น กล่องโฟม เครื่องชั่งดิจิทัล เจลเย็นสำหรับแช่อาหารในกล่องโฟม ให้เขตครบแล้ว พร้อมเริ่ม ส่งต่ออาหารได้ทันทีที่พร้อม
ทั้งนี้ นโยบายพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่อ อาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบาง อย่างเป็นรูปธรรม ได้เริ่มนำร่องโครงการ Food Bank ที่สำนักงาน เขตบางขุนเทียน เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 และได้ขยายโมเดลไปใน 10 เขตนำร่อง เพื่อแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (Food Waste) ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยกรุงเทพมหานครทำงาน ร่วมกับ มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance : SOS) และ มูลนิธิวีวี แชร์ (VV SHARE) เป็นตัวกลางในการส่งต่ออาหารส่วนเกิน (food surplus) ไปยัง ผู้ที่ขาดแคลน โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการและภาคประชาสังคม รวบรวมส่งต่อวัตถุดิบ และอาหารส่วนเกิน จากผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการ ส่งต่อความช่วยเหลือ สู่ผู้ที่ต้องการ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนจนเมือง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน สร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างยั่งยืน
บรรยายใต้ภาพ
ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2566