ผู้ว่าฯ สัญจรเขตวัฒนา พื้นที่เศรษฐกิจกลางเมือง มุ่งคืนทางเท้าให้คนเดินโดย ผู้ค้ามีพื้นที่ทำกิน พร้อมแก้ปัญหาน้ำท่วม เร่งเพิ่มไฟฟ้าแสงสว่าง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมกับคณะ ผู้บริหารกทม. นางสาวสุชิรา ศิลานนท์ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” ณ สำนักงานเขตวัฒนา โดยกล่าวว่า เขตวัฒนา เป็นเขตหลักซึ่งมีพื้นที่เขต เศรษฐกิจกลางเมือง มีพื้นที่ 12.56 ตร.กม. มีประชาชน 80,830 คน ถือว่าเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจชั้นในที่สำคัญ เนื่องจากเป็น แหล่งที่มีผู้คนสัญจรไปมาจำนวนมาก ดังนั้นปัญหาที่จะจัดการหลักๆ ปัญหาแรก คือ หาบเร่-แผงลอย เริ่มจากถนนสุขุมวิท เป็นหลัก โดยได้ดำเนินการลงพื้นที่เป็นระยะเวลา 3-4 เดือนแล้ว ซึ่งถือว่าทำได้ค่อนข้างดีในพื้นที่ซอยทองหล่อ ต่อไปจะขยายผลไปซอยอโศก โดยจะยึดหลัก แนวคิดเดิมคือ ให้คนเดินเท้ามาก่อน รวมถึง จัดหาพื้นที่เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าอยู่ได้ อาจจะใช้พื้นที่เอกชนหรือในซอยที่แยกออกไป จะจัดการไปถึงซอยปรีดี พนมยงค์
ต่อมาที่จะจัดการคือ ปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากปีที่ผ่านๆ มา มีน้ำท่วมในซอยต่างๆ ซึ่งตอนนี้ได้มีการดำเนินการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง การปรับปรุงระบบระบายน้ำ การขุดลอกคูคลอง เพื่อให้พร้อมรับมือหน้าฝนในปีนี้ ปัญหาไฟ แสงสว่าง เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการจัดการ ซึ่งได้รับการแก้ไขไป พอสมควร ได้มีการให้ข้อมูลเรื่อง เสาไฟฟ้า สีเขียว และสำรวจหลอดไฟที่ขาดไปประมาณ 300 กว่าดวง โดยจะเร่งดำเนินการในเส้นทางการเดินทางสัญจร ปรับปรุงไฟฟ้าแสงสว่างให้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชน ผู้ที่นั่งวีลแชร์ หรือคนที่ปั่นจักรยานสามารถเดินทางได้สะดวก
ปัญหาต่อมาคือ การจัดเก็บขยะ เนื่องจากเมืองมีกิจกรรมต่างๆ กลับคืนมา จึงทำให้ปริมาณขยะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ควรปรับปรุงการจัดเก็บขยะให้ครบถ้วน มีการ จัดซื้อถังขยะใหม่ทั้งหมดประมาณ 70,000 ใบ คาดว่าประมาณเดือนมีนาคม หรือเดือนเมษายน 2566 จะมีถังขยะกระจายทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้จะดำเนินการ 3 มาตรการ คือ 1.เข้มงวด ในเวลาจัดเก็บ ถ้ามีการนำขยะมาวางก่อนเวลากำหนด จะมีการปรับโดยเขตวัฒนาจะเป็นเขตนำร่องก่อน เพื่อลดขยะที่วางตามถนน และทำให้มีน้ำจากขยะไหลเจิ่งนอง 2.การทำคอกกั้นขยะ ซึ่งได้ทำเป็นคอกตาข่ายที่สามารถพับได้เหมือนประเทศญี่ปุ่น แต่มีหนูมากัดขาดทำให้ขยะเกลื่อนกระจาย โดยจะหาแนวทางปรับปรุงเป็นเหล็กให้มีความแข็งแรง 3.การจัดเก็บขยะให้ถี่ขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจ
ต่อมาคือเรื่อง สายสื่อสารที่รกรุงรัง โดยมีต้นแบบที่จัดระเบียบไว้แล้วอยู่ที่ทองหล่อ ปีที่ผ่านมาได้หารือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ตลอดในเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสาร ซึ่งจัดการไปประมาณ 146 กิโลเมตร ซึ่งต่ำกว่า เป้าหมาย ในปีนี้จะเร่งมากขึ้นทั้ง 2 ส่วน คือการจัดระเบียบและการเอาสายสื่อสารลงดิน ทั้งนี้ จะมีการผลักดันไปอย่าง ต่อเนื่อง ในส่วน Traffy Fondue ของเขตวัฒนา มีการรับเรื่องร้องเรียน 7,000 เรื่อง ดำเนินการแก้ไขแล้ว 6,468 เรื่อง คิดเป็น 92.40 % แก้ไขได้ค่อนข้างเร็วหลังจากเรื่องภายใน 6 ชั่วโมง ถือว่าเขตวัฒนาทำไว้ได้ดี
ด้าน นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร สมาชิก สภากรุงเทพมหานคร เขตวัฒนา กล่าวว่า มีความตั้งใจที่จะพัฒนาซอยทองหล่อให้เป็น ต้นแบบ หรือตามแบบฉบับ Universal Design ปรับปรุงทางเท้าให้เป็นตามมาตรฐานและยกระดับขึ้นมา ซึ่งตรงบริเวณนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เพราะฉะนั้นหากทางเท้าดี อะไรดีๆ ก็จะตามมา และอีก ความหวังหนึ่งที่ขอฝากไว้กับผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ หวังว่าเราจะมีอาคารสำนักงานเขตเป็นของตนเองในพื้นที่เขตวัฒนา
“อาคารสำนักงานเขตเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานเขตวัฒนาอยู่ท้ายซอยสุขุมวิท 55 ติดคลองแสนแสบ เป็นพื้นที่แออัด ประชาชนเข้าถึงยาก จึงได้ดำเนินการหารือเรื่องพื้นที่ในการสร้างอาคารสำนักงานเขตวัฒนา อาจจะเจรจาขอพื้นที่จากภาครัฐหรือหาพื้นที่ที่จะขอเช่าอยู่ระยะยาวได้ และ อีกเรื่องคือ สวน 15 นาที เราพยายามเพิ่มสวน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น ทุกอย่างได้ดำเนินการไปตามเป้าหมาย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเสริม
จากนั้นในเวลา 14.00 น. ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมคณะ เดินเท้าทางจากเขตวัฒนา ไปตามทางเดินเลียบคลอง แสนแสบ ไปยังชุมชนสุเหร่าบ้านดอน เยี่ยมชมบ้านหนังสือ สินค้าในชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชม และพบปะพูดคุย รับทราบปัญหาของชุมชน จากนั้นเยี่ยมชม สวน 15 นาที Pocket Park 39 ซอยสุขุมวิท 39 ตรวจทางเดินริมคลองแสนแสบจุดที่ ไม่เชื่อมต่อ (ฟันหลอ) ต่อมาเดินทาง ไปยังซอยทองหล่อ 10 เยี่ยมชมสวน 15 นาที Pocket Park ทองหล่อ 10 การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองเป้ง และการบริหารจัดการน้ำในคลองเป้ง
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 30 ม.ค. 2566