(21 ก.ค. 68) เวลา 12.45 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสะพานสูง ประกอบด้วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมหมู่บ้านนักกีฬาประชาร่วมใจ บริเวณนักกีฬาแหลมทอง 3 ซึ่งเป็นสวนต่อเนื่องจากสวนสุขภาพเคหะชุมชนหัวหมาก เขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาพื้นที่ว่าง จัดเก็บขยะ จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปูหญ้าสนาม ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุขภาพเคหะชุมชนหัวหมาก พื้นที่ 11,000 ตารางเมตร 2.สวนสุวรรณพฤกษ์ (สวนหมู่บ้านพฤกษชาติ) พื้นที่ 3,650 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนชุมชนฮิดายะห์ พื้นที่ 180 ตารางเมตร 2.สวนวัดลาดบัวขาว (ราชโยธา) พื้นที่ 880 ตารางเมตร 3.สวนหย่อมซอยกรุงเทพกรีฑา 32 พื้นที่ 140 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมหมู่บ้านนักกีฬาประชาร่วมใจ (สวนต่อเนื่องจากสวนสุขภาพเคหะชุมชนหัวหมาก) พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร 5.สวน 15 นาที ชุมชนกระทุ่มเดี่ยว พื้นที่ 700 ตารางเมตร 6.สวนสะพานสูงส่งเสริมสุขภาพ (ศูนย์สาธารณสุข 68) พื้นที่ 2,800 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Nirvana @Work กรุงเทพกรีฑา ซึ่งเป็นการก่อสร้างโฮมออฟฟิศ ความสูง 3.5 ชั้น 6 ระดับ จำนวน 39 ยูนิต ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด อาทิ จัดทำรั้วโดยรอบในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกโครงการ เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้าออกโครงการและพื้นที่โดยรอบตลอดเวลาทำงาน ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน ประเภทแพลนท์ปูน/ควันดำในสถานที่ต้นทาง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ แม็คโครฟูดเซอร์วิส สาขารามคำแหง พื้นที่ 1,535 ตารางเมตร บุคลากร 88 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะกับกรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารส่งให้เขตฯ จัดเก็บนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ปัจจุบันมีขยะเศษอาหารเป็นจำนวนมาก เขตฯ ได้ประสานเกษตรกรเพื่อรับไปเป็นอาหารสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล รวบรวมไว้ในจุดที่กำหนด 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป รวบรวมไว้ในจุดที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย รวบรวมไว้ในจุดที่กำหนด เขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 750 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 250 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2568
ติดตามการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ บริเวณวินพาร์คเวย์โฮม ถนนราษฎร์พัฒนา ผู้ขับขี่ 28 ราย จุดตั้งวินอยู่บนทางเท้า จอดรถบนพื้นผิวจราจร เขตฯ มีวินรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่ 27 วิน ผู้ขับขี่ 565 คน เป็นวินรถจักรยานยนต์สาธารณะต้นแบบ 10 วิน ซึ่งเขตฯ จะต้องตรวจความเรียบร้อยตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีข้อใดไม่เรียบร้อยให้แจ้งข้อบกพร่องแก่ผู้ขับขี่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อย โดยแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ ประกอบด้วย 1.ด้านความสะอาด ได้แก่ สถานที่ตั้งวินและโดยรอบต้องมีความสะอาด ไม่มีการตอกผูกยึดโยง 2.ด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้แก่ จอดรถจักรยานยนต์เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางเท้าหรือพื้นผิวจราจร ตั้งวางม้านั่งเป็นระเบียบ 3.ด้านกฎหมาย ได้แก่ การแต่งกายถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เสื้อวิน เบอร์เสื้อถูกต้องตามบัญชี ไม่ขับขี่บนทางเท้า ป้ายทะเบียนถูกต้อง สวมหมวกนิรภัย ป้ายอัตราค่าโดยสารถูกต้อง ไม่เก็บค่าโดยสารเกินราคา ไม่นำเสื้อวินไปเช่าช่วงต่อ 4.ด้านอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ดื่มสุรา กริยามารยาทสุภาพ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตรวจตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กฎหมายกำหนด อาทิ การแต่งกาย ป้ายทะเบียนรถ อัตราค่าโดยสาร สถานที่ตั้งวิน วินัยจราจร พร้อมทั้งตรวจจุดติดตั้งกล้อง CCTV จับภาพอัจฉริยะผ่านระบบ BMA AI CAMERA ซึ่งเขตฯ มีจุดติดตั้งกล้อง CCTV จำนวน 1 จุด บริเวณร้านสะดวกซื้อ 7-11 ใกล้ซอยราษฎร์พัฒนา 24 ถนนราษฎร์พัฒนา เพื่อตรวจจับผู้กระทำความผิดขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า กวดขันวินัยจราจรดำเนินการแก่ผู้ฝ่าฝืนนำรถยนต์ขึ้นมาจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า
พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือ บริเวณถนนราษฎร์พัฒนา (ตลาดลาว) ผู้ค้า 97 ราย ตั้งแต่ปากซอยราษฎร์พัฒนา 20 ถึงปากซอยราษฎร์พัฒนา 24 ผู้ค้าจะทำการค้าในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ซึ่งในปี 66 เขตฯ ได้ประสานศูนย์การค้าเดอะพาซิโอทาวน์ รามคำแหง เพื่อจัดทำ Hawker Center บริเวณลานจอดรถหน้าศูนย์การค้าฯ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. ต่อมาปี 67 เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างใต้สะพานต่างระดับถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า (ฝั่งตะวันออก) ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดของของสำนักการโยธา เพื่อจัดทำ Hawker Center ส่วนในปี 68 เขตฯ ได้ประสานพื้นที่เอกชน เพื่อจัดทำ Hawker Center บริเวณถนนราษฎร์พัฒนา ระหว่างซอยราษฎร์พัฒนา 18-20 สามารถรองรับผู้ค้าได้ 100 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด
ในการนี้มี นายสุพจน์ หล้าจำศีล ผู้อำนวยการเขตสะพานสูง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสะพานสูง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #ปลอดภัยดี #เดินทางดี #บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60 #BKKWASTEPAY
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)