“ไม่ใช่เพราะสงสาร แต่เพราะศักยภาพ” กทม. เดินหน้าโมเดล 3 ดี จ้างงานคนพิการครบ 7 ประเภทแล้วกว่า 400 คน ตั้งเป้าจ้างให้ครบตามกฎหมาย มุ่งสร้างเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

(19 ก.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงนโยบายการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการของกรุงเทพมหานคร ว่า กรุงเทพมหานครมุ่งสร้างเมืองที่เท่าเทียมสำหรับทุกคนผ่านการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ภายใต้นโยบาย “กทม. 3 ดี BMA Model” ซึ่งเป็นต้นแบบการจ้างงานภาครัฐที่คำนึงถึงศักยภาพ ความสามารถ และความหลากหลายของคนพิการอย่างแท้จริง โดยล่าสุดกรุงเทพมหานครได้จ้างงานคนพิการแล้วกว่า 400 คน ครอบคลุมคนพิการทั้ง 7 ประเภท พร้อมตั้งเป้าเดินหน้าจ้างงานให้ครบตามอัตรากฎหมายที่ 629 คน

นโยบายจ้างงานคนพิการของกรุงเทพมหานครเป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจ้างงานคนพิการในอัตราส่วน 1:100 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด โดย กทม. มีข้าราชการและลูกจ้างประจำรวม 62,895 คน จึงต้องจ้างงานคนพิการให้ได้ 629 คน ปัจจุบัน กทม. จ้างงานคนพิการแล้วรวม 414 คน ประกอบด้วย ข้าราชการ 57 คน ลูกจ้างประจำ 49 คน และอาสาสมัครช่วยปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ 308 คน อีกทั้งยังมีนโยบายในการกระจายการจ้างงาน ให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต จ้างอาสาสมัครคนพิการ เพื่อเพิ่มอัตราการจ้างงานคนพิการ รวมถึงสร้างโอกาสให้คนพิการได้ทำงานใกล้บ้าน มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่าในสังคม

สำหรับนโยบาย “กทม. 3 ดี BMA Model” เป็นความร่วมมือระหว่าง กทม. และภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนกลไกเพื่อสร้างกระบวนการจ้างงานคนพิการอย่างมีคุณภาพ สามารถใช้เป็นต้นแบบการจ้างงานคนพิการภาครัฐ ประกอบด้วย 1. สนับสนุนดี โดยจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการจ้างงานคนพิการ เป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงระหว่างคนพิการที่ต้องการหางานกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการจับคู่ที่เหมาะสมและลดอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล 2. กระบวนการดี ด้วยการสร้างมาตรฐานการทำงานผ่านคู่มือปฏิบัติงาน (Work Guide) 3. คนทำงานดี โดยมุ่งพัฒนาทักษะ (Upskill/Reskill) เพื่อเตรียมความพร้อมให้คนพิการทำงานได้จริงตามความสามารถ

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังให้ความสำคัญกับ “เสียงของคนพิการ” โดยมีแนวคิดในการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากพนักงานคนพิการที่ลาออกผ่านกระบวนการสัมภาษณ์ขณะลาออก (Exit Interview) เพื่อทำความเข้าใจปัญหาอุปสรรค เช่น ปัญหาการเดินทาง หรือความเข้าใจของเพื่อนร่วมงาน และสามารถนำมาวิเคราะห์ปรับปรุงรูปแบบการจ้างงานและสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้กรุงเทพมหานครจะมีความก้าวหน้าอย่างมากในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ แต่ยังคงมีความท้าทายที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การเพิ่มจำนวนการจ้างให้ครบตามเป้าหมาย หรือการปรับรูปแบบการจ้างงานให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น จากอาสาสมัครสู่ตำแหน่งลูกจ้างประจำหรือข้าราชการ เพื่อสร้างความมั่นคงและสวัสดิการที่ยั่งยืน

“การจ้างงานคนพิการไม่ใช่เพียงการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เป็นการสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีให้กับทุกคนในสังคม เราไม่ได้จ้างงานคนพิการเพราะความสงสาร แต่เพราะพวกเขามีความสามารถและสมควรได้รับโอกาสนั้น กรุงเทพมหานครมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและเท่าเทียมตามแนวคิด Bangkok for All เพื่อไปสู่จุดหมาย ‘กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ ต่อไป” โฆษกของกรุงเทพมหานคร ย้ำ

#BangkokForAll #กทม3ดีBMAModel #ต้นแบบการจ้างงานคนพิการภาครัฐ

—————————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200