คลองเตยพลิกที่ว่างปั้นสวนเติมสุขสู่สังคม คู่ลานกีฬาใต้ทางด่วนสุขุมวิท 50 ชวนอาคารทีวันสุขุมวิท 40 คัดแยกขยะไม่เทรวม จัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ส่องจุดติดกล้อง CCTV สุขุมวิท 20 จับภาพผู้ขับขี่บนทางเท้า

(18 ก.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองเตย ประกอบด้วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา เติมสุข สู่สังคม (สวนเติมสุข) ซอยสุขุมวิท 50 ข้างคลองบางจาก ตรงข้ามสวน 50 สุข ซึ่งเขตฯ ร่วมกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดทำสวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา เติมสุข สู่สังคม บริเวณสวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ โดยพัฒนาพื้นที่ริมทางพิเศษเฉลิมมหานคร ใกล้ทางลงซอยสุขุมวิท 50 (ขาออก) ให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะเพื่อสาธารณประโยชน์ ปรับปรุงพื้นที่ว่างใต้ทางด่วนเป็นลานกีฬาหลากหลายประเภท โดยมีแนวคิดพัฒนาพื้นที่เล็ก แต่เกิดประโยชน์ใหญ่ เน้นการเพิ่มพื้นที่สวนให้คนเมือง และพื้นที่กิจกรรมใกล้บ้านสำหรับทุกคนในครอบครัว ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดเก็บขยะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดินวิ่งเชื่อมโยงรอบสวน สนามเด็กเล่น สนามกีฬา ลานอเนกประสงค์ พื้นที่ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน โดยได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ กำหนดพิธีเปิดสวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา เติมสุข สู่สังคม ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธี ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 9 ไร่ 2.สวนหย่อมป๋าเปรม พื้นที่ 50 ตารางวา 3.สวนหย่อมอาจณรงค์ภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนคลองเตย พัก&Play สวนหย่อมหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่ 300 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2.สวน 50 สุข ซอยสุขุมวิท 50 (สวนไทรเฉลิมพระเกียรติ) พื้นที่ 10 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3.สวน 80 พรรษามหาราชินี (ใต้ทางด่วนซอยสุขุมวิท 48/1) พื้นที่ 5 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 4.สวนวัดคลองเตยใน พื้นที่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของวัดคลองเตยใน 5.สวนสุขวิถีชาวแฟลต ชุมชนแฟลต 11-18 พื้นที่ 1 งาน 12.5 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 6.สวนเพลินจิต พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย 7.สวน 15 นาที สุขุมวิท 24 พื้นที่ 1 งาน 47 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรุงเทพมหานคร 8.สวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา เติมสุข สู่สังคม (สวนเติมสุข) พื้นที่ 5 ไร่ 245 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 9.สวนสวยปากซอย พื้นที่ 48.6 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 10.สวนห้าแยก ณ ระนอง พื้นที่ 54.28 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรุงเทพมหานคร 11.สวนบึงยาสูบ พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หากดำเนินการครบแล้ว แต่ยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่ สามารถนำมาพัฒนาเป็นสวน 15 นาทีเพิ่มเติมได้อีก โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารทีวัน ซอยสุขุมวิท 40 พื้นที่ 43,749 ตารางเมตร มีพนักงาน 3,712 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป แม่บ้านนำขยะทั่วไปที่ผ่านการคัดแยกแล้ว รวบรวมนำใส่ถุงนำลงมาไว้ห้องขยะประเภททั่วไปชั้น 1 2.ขยะรีไซเคิล แม่บ้านคัดแยกขยะตามชั้น รวบรวมขยะรีไซเคิลใส่ถุงนำลงมาไว้ห้องขยะประเภทรีไซเคิลชั้น 1 โดยแยกตามประเภท ดังนี้ กระดาษลังน้ำตาล กระป๋องอลูมิเนียม พลาสติกรวม กระดาษแกน กระดาษย่อย 3.ขยะอินทรีย์ แม่บ้านคัดแยกขยะเศษอาหาร โดยใช้ถังและตะแกรงวางด้านบนเพื่อกรองน้ำหรือของเหลวออก คัดแยกกระดาษทิชชู ไม้จิ้มฟัน หลอดน้ำ และสิ่งเจือปนที่ไม่ใช่เศษอาหารออก รวบรวมขยะเศษอาหารใส่ถุงนำลงมาไว้ห้องขยะประเภทอินทรีย์ชั้น 1 4.ขยะอันตราย แม่บ้านรวบรวมขยะอันตรายที่ผู้เช่านำมาทิ้งถังขยะส่วนกลาง ใส่ถุงขยะอันตรายสีแดง นำลงมาไว้ห้องขยะอันตรายชั้น 2 ส่วนเจ้าหน้าที่ช่าง ฝ่ายวิศวกรรมอาคาร เมื่อใช้วัสอุปกรณ์ที่เป็นประเภทขยะอันตรายแล้ว นำใส่ถุงขยะอันตรายสีแดง และเขียนป้ายกำกับติดไว้ที่ถุง โดยมีการแยกขยะ ดังนี้ หลอดไฟ น้ำมันเครื่อง แบตเตอรี่ ผ้าที่เปื้อนสารเคมีหรือน้ำมันเครื่อง ภาชนะที่บรรจุสารต่าง ๆ ที่ปนเปื้อน หลังจากใช้หมดแล้ว เมื่อจัดเก็บรวบรวมไว้ได้ปริมาณมากประมาณ 1 คันรถกระบะ จะจ้างผู้รับเหมาทั่วไปนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 4,006 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 3,000 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 787 กิโลกรัม/สัปดาห์ ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/3 เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะไปกำจัดมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2568

ติดตามการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ บริเวณซอยสุขุมวิท 22 ผู้ขับขี่ 28 ราย จุดตั้งวินอยู่บนทางเท้า เขตฯ มีวินรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่ 187 วิน ผู้ขับขี่ 2,315 คน เป็นวินรถจักรยานยนต์สาธารณะต้นแบบ 19 วิน ซึ่งเขตฯ จะต้องตรวจความเรียบร้อยตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีข้อใดไม่เรียบร้อยให้แจ้งข้อบกพร่องแก่ผู้ขับขี่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อย ซึ่งแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ ประกอบด้วย 1.ด้านความสะอาด ได้แก่ สถานที่ตั้งวินและโดยรอบต้องมีความสะอาด ไม่มีการตอกผูกยึดโยง 2.ด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้แก่ จอดรถจักรยานยนต์เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางเท้าหรือพื้นผิวจราจร ตั้งวางม้านั่งเป็นระเบียบ 3.ด้านกฎหมาย ได้แก่ การแต่งกายถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เสื้อวิน เบอร์เสื้อถูกต้องตามบัญชี ไม่ขับขี่บนทางเท้า ป้ายทะเบียนถูกต้อง สวมหมวกนิรภัย ป้ายอัตราค่าโดยสารถูกต้อง ไม่เก็บค่าโดยสารเกินราคา ไม่นำเสื้อวินไปเช่าช่วงต่อ 4.ด้านอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ดื่มสุรา กริยามารยาทสุภาพ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตรวจตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กฎหมายกำหนด อาทิ การแต่งกาย ป้ายทะเบียนรถ อัตราค่าโดยสาร จุดที่ตั้งวิน วินัยจราจร รวมถึงการจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้า ต้องอยู่ในแนวเส้นที่กำหนด ห้ามจอดล้ำเข้ามาบนทางเดินผู้พิการ พร้อมทั้งตรวจจุดติดตั้งกล้อง CCTV จับภาพอัจฉริยะผ่านระบบ BMA AI CAMERA บริเวณซอยสุขุมวิท 20 ในพื้นที่เขตฯ มีจำนวน 2 จุด ได้แก่ ปากซอยสุขุมวิท 20 ปากซอยสุขุมวิท 30 เพื่อตรวจจับผู้กระทำความผิดขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า กวดขันวินัยจราจรดำเนินการแก่ผู้ฝ่าฝืนนำรถยนต์ขึ้นมาจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตั้งเสาป้องกันการขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตั้งจุดกวดขันผู้กระทำความผิด

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 36 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. 3.ปากซอยแสนสุข ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือซอยไผ่สิงห์โต ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 6 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 83 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 2.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 3.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 5.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งบางจาก) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย 2.ตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ผู้ค้า 91 ราย ยกเลิกวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือหน้าตลาดคลองเตย 1 ผู้ค้า 35 ราย ยกเลิกวันที่ 17 มีนาคม 2568 นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์อาหารถนอมมิตร ถนนพระรามที่ 4 รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ศูนย์อาหารพระราม 4 พลาซ่า รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. และ 14.00-22.00 น. จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในการนี้มี นางสาวเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #ปลอดภัยดี #เดินทางดี #บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60 #BKKWASTEPAY

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200