
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา เปิดเผยถึงโครงการศึกษาต่อ ณ ไต้หวัน ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษา ได้ร่วมมือกับกองทุนศูนย์จีนศึกษาเครือโรงเรียนเทพศิรินทร์ ดำเนินการรับสมัครนักเรียนเข้าศึกษาต่อวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ณ ไต้หวัน โดยได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษาจากคณะกรรมการชาวจีนโพ้นทะเลของรัฐบาลไต้หวัน
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ส่งเสริมนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มมีความเสี่ยงขาดโอกาสในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 2. พัฒนาทักษะในสายวิชาชีพด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต 3. ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพที่ดีของนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามนโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร
● เส้นทางสู่ไต้หวัน: จากการประชาสัมพันธ์สู่ค่ายเตรียมความพร้อม
สำนักการศึกษาและกองทุนศูนย์จีนศึกษาฯ ได้เริ่มประชาสัมพันธ์รับสมัครการศึกษาต่อไต้หวันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 และได้มีการจัดแนะแนวให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษาที่สนใจ 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม มีนักเรียนเข้าร่วมงานประมาณ 80 คน ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ณ โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ เนื่องจากมีนักเรียนสนใจเพิ่มเติมอีกประมาณ 50 คน จากนั้นได้มีการสอบสัมภาษณ์นักเรียนและผู้ปกครอง เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ณ โรงเรียนนาหลวง และได้มีการจัดค่ายกิจกรรมแนะแนวนักเรียนที่ผ่านการสอบสัมภาษณ์เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2567 ณ โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 32 คน (สังกัด กทม. 16 คน ต่างสังกัด 16 คน) ในจำนวนนี้ นักเรียนในสังกัดได้รับคัดเลือกไปศึกษาต่อมี จำนวน 11 คน
รายชื่อนักเรียนสังกัด กทม. ได้ที่ศึกษาต่อมีดังนี้ 1.โครงการอาชีวปริญญา 3+4 ปีการศึกษา 2568 (6คน) 1) นายพีรพล ลีทอง โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม 2) นางสาวหรรษากระแสร์ โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม 3) นายภาสกร มิลินทแพทย์ โรงเรียนบางยี่ขันวิทยาคม 4) นางสาวอาพัชร์สรา จุ่นวาที โรงเรียนวัดบางกระดี่ 5) นายธวัชชัย เข็มเพชร โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์ และ 6) นางสาวญาณภา ศรีสุภาพ โรงเรียนวัดพระยาสุเรนทร์
2.นักเรียนสังกัด กทม. ที่ศึกษาต่อหลักสูตร 4 ปี ปีการศึกษา 2568 (5คน)มีดังนี้ 1) นางสาวปัณฑ์ชณิต กอนินัย โรงเรียนนาหลวง 2) นางสาวพัชราภรณ์ เที่ยงวิบูลย์วงศ์ โรงเรียนนาหลวง 3) นางสาวสุชานาถ พันธ์ทอง โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ 4) นางสาวปาลิตา นาทอง โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ และ 5) นางสาวกัญญารัตน์ โชติรัตน์ โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์
ปัจจุบันนักเรียนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาเหล่านี้ได้เข้าค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค จ.สระบุรี และโรงเรียนกวงฝูวิทยาคม จ.เชียงราย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีกิจกรรมปฐมนิเทศไปเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 โดยนักเรียนที่ศึกษาต่อโครงการอาชีวปริญญา 3+4 มีกำหนดเดินทางไปประเทศไต้หวัน เพื่อศึกษาต่อที่ โรงเรียนอุตสาหกรรมและพาณิชยศาสตร์จงซาน (Chung-Shan Industrial & Commercial School )ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 จำนวน 1 คน และ ศึกษาต่อที่ Tzu Ming High School เมืองTaichung ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2568 จำนวน 5 คน นี้ และนักเรียนที่ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีอีก 5 คน ขณะนี้กำลังดำเนินการขอวีซ่า เพื่อเตรียมออกเดินทางศึกษาต่อในช่วงเดือนกันยายน 2568 นี้
ทั้งนี้ จุดเด่นของโครงการอาชีวปริญญา 3+4 หลักสูตร จะเน้นเรียนในโรงเรียน 3 เดือน และฝึกงานในสถานประกอบการจริง 3 เดือน ในขณะฝึกงานจะได้รับค่าแรง การันตีที่ 23,000 - 27,000 บาทต่อเดือน หากไม่ใช่ช่วงฝึกงาน นักเรียนสามารถทำงานพาร์ทไทม์ได้ค่าแรงตามกฏหมายแรงงานไต้หวันกำหนด เมื่อจบระดับชั้นวิทยาลัย สามารถรับทุนเรียนต่อระดับปริญญาตรีตามสาขาที่เรียนมาได้ทันที
ส่วนโครงการ 4 ปี ระดับปริญญาตรี จะได้ฝึกงานตามสาขาที่เรียนในสถานประกอบการ และได้รับค่าแรงตามกฎหมายแรงงานไต้หวัน
“การพัฒนาด้านการศึกษาเป็น 1 ใน 2 เรื่องที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ โดยท่านได้เน้นย้ำมาตลอดว่า ‘การศึกษาและสาธารณสุขคือหัวใจสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม’ กรุงเทพมหานครจึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานครบทุกมิติ รวมทั้งส่งเสริมความสามารถทุกด้านของผู้เรียน เพื่อให้นักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครมีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21” ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าว
—————————