กทม. จัดพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันอาสาฬหบูชา 2568

 

 

(10 ก.ค. 68) แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตร เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ร่วมกับ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร จัดขึ้นเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สานต่อขนบธรรมเนียมวิถีไทยและสืบทอดประเพณีที่ดีงามในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้ให้คงอยู่คู่ประเทศชาติตลอดไป โอกาสนี้ นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธี

 

นอกจากนี้ กทม. ร่วมกับ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ได้จัดกิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 7 – 11 กรกฎาคม 2568 เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 73 พรรษา

 

วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” เป็นครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี และการแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้ “พระโกณฑัญญะ” หนึ่งในปัญจวัคคีย์เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมจนได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ได้อุปสมบทเป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 

สำหรับวันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน ในปีนี้ตรงกับวันที่ 10 ก.ค. 2568 คำว่า “อาสาฬหบูชา” ย่อมาจากคำว่า “อาสาฬหปูรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ” อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งจะตรงกับเดือน ก.ค. หรือ ส.ค.

 

สิ่งที่พึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา กิจกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในวัดเตรียมจัดกิจกรรมที่วัด รวมถึงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ส่วนสิ่งที่พุทธศาสนิกชน พึงกระทำในวันนี้ คือ ทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน ให้ทาน รักษาศีล งดการทำบาป เข้าวัดสวดมนต์ ฟังธรรม และเวียนเทียนรอบอุโบสถ เพื่อน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และยังช่วยชำระล้างจิตใจให้ผ่องใส

 

ส่วน “วันเข้าพรรษา” เป็นวันที่ต่อเนื่องมาจาก “วันอาสาฬหบูชา” ซึ่งวันเข้าพรรษา แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา อธิษฐานอยู่ประจำพรรษาวัดใดวัดหนึ่ง ไม่ไปค้างแรมที่อื่นตลอด 3 เดือนใน “ฤดูฝน” เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่มีอนุญาตไว้ในพระวินัย

——————–

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200