(8 ก.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางซื่อ ประกอบด้วย
ติดตามการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ บริเวณหลังตลาดเตาปูน ถนนประชาชื่น ซึ่งเขตฯ มีวินรถจักรยานยนต์สาธารณะในพื้นที่รวมทั้งหมด 115 วิน อยู่ในท้องที่สน.เตาปูน 75 วิน สน.ประชาชื่น 33 วิน สน.บางโพ 6 วิน ผู้ขับขี่รวมทั้งสิ้น 1,248 คน เป็นวินรถจักรยานยนต์ต้นแบบ 12 วิน ซึ่งเขตฯ จะต้องตรวจความเรียบร้อยตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าไม่เรียบร้อยให้แจ้งข้อบกพร่องแก่ผู้ขับขี่ เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อย ซึ่งแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ ประกอบด้วย 1.ด้านความสะอาด ได้แก่ สถานที่ตั้งวินและโดยรอบมีความสะอาด ไม่มีการตอกผูกยึดโยง 2.ด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้แก่ จอดรถจักรยานยนต์เป็นระเบียบ ไม่กีดขวางทางเท้าหรือพื้นผิวจราจร ตั้งวางม้านั่งเป็นระเบียบ 3.ด้านกฎหมาย ได้แก่ การแต่งกายถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด เสื้อวิน เบอร์เสื้อถูกต้องตามบัญชี ไม่ขับขี่บนทางเท้า ป้ายทะเบียนถูกต้อง สวมหมวกนิรภัย ป้ายอัตราค่าโดยสารถูกต้อง ไม่เก็บค่าโดยสารเกินราคา ไม่นำเสื้อวินไปเช่าช่วงต่อ 4.ด้านอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ดื่มสุรา กริยามารยาทสุภาพ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์สาธารณะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตรวจตามแบบประเมินวินรถจักรยานยนต์สาธารณะ เน้นย้ำผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด อาทิ การแต่งกาย ป้ายทะเบียนรถ อัตราค่าโดยสาร จุดที่ตั้งวิน รวมถึงเน้นย้ำให้เขตฯ ตรวจจุดติดตั้งกล้อง CCTV ผ่านระบบ BMA AI CAMERA ซึ่งในพื้นที่เขตฯ มีจำนวน 3 จุด ได้แก่ ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี 39 ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี 56 และปากซอยสนิท ถนนประชาราษฎร์สาย 2 เพื่อตรวจจับผู้กระทำความผิดขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า กวดขันวินัยจราจรดำเนินการแก่ผู้ฝ่าฝืนนำรถยนต์ขึ้นมาจอดหรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้าต่อไป
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าตลาดศรีเขมา ถนนประชาราษฎร์สาย 1 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 192 ราย ได้แก่ 1.ตลาดประจวบบางซื่อ ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 37 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 00.00-09.00 น. 2.ตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 69 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-14.00 น. 3.ตลาดมณีพิมาน ถนนประชาชื่น ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 4.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 45 ราย ฝั่งขาออก (ซอยบุญเหลือ) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. ฝั่งขาเข้า (ตลาดมณีพิมาน) ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. และ 5.หน้าตลาดบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. และ 15.00-22.00 น. ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 89 ราย ได้แก่ 1.ข้างห้างโลตัสประชาชื่น ผู้ค้า 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ขาออก) ผู้ค้า 28 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 3.ตรอกข้าวหลาม (ชุมชนจันทร์เกษม) ผู้ค้า 37 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าบริเวณซอยสะพานขวา ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือซอยโชติวัฒน์ (สะพาน 99) ผู้ค้า 8 ราย ยกเลิกวันที่ 1 เมษายน 2568 ต่อมาเขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 10 ราย 2.ตลาดศรีเขมา ผู้ค้า 47 ราย ยกเลิกวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ส่วนตรอกข้าวหลาม (ชุมชนจันทร์เกษม) ผู้ค้า 40 ราย จะพิจารณาจัดทำเป็นตลาดชุมชน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ตรวจสอบจำนวนผู้ค้าที่มีตัวตนและยังทำการค้าอยู่จริง จัดทำบัญชีผู้ค้าให้เป็นยอดผู้ค้าในปัจจุบัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงสำรวจพื้นทางเท้าที่ชำรุดเสียหาย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุง ตลอดจนเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ตอไม้แห้ง กระถางต้นไม้ แท่นคอนกรีตระบบสื่อสารที่ไม่ได้ใช้งานออกจากทางเท้าให้เรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนใช้ทางเท้าในการสัญจรได้สะดวก
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ หมู่บ้านสารินปาร์ค ซอยรัชดาภิเษก 66 พื้นที่ 50 ไร่ ประชากร 400 คน บ้านเรือน 10 หลังคาเรือน เจ้าหน้าที่สำนักงานหมู่บ้าน 16 คน ร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหาร สำนักงานจัดทำถังหมัก OK (รักษ์โลก) จำนวน 2 ถัง คัดแยกใบไม้แห้งและกิ่งไม้สด โดยส่วนกลางจะนำเข้าเครื่องบดย่อยทำปุ๋ยใส่ต้นไม้ภายในหมู่บ้าน กาบไม้แห้งและกิ่งไม้ใหญ่จ้างเอกชนมารับไปทำประโยชน์ 2.ขยะรีไซเคิล พนักงานจะคัดแยกและนำไปขายกับซาเล้ง มีวิทยากรจาก Waste buy delivery มาให้ความรู้เกี่ยวกับขยะรีไซเคิลที่สามารถนำมาขายได้ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 49,920 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 28,800 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 2,650 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2,950 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,010 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในหมู่บ้านลงทะเบียนในระบบ BKK WASTE PAY เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 68
พัฒนาสวน 15 นาที สวนธนะสิริ ซอยประชาชื่น 43 ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ว่าง จัดเก็บขยะ กำจัดวัชพืช จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ชิงช้า เครื่องเล่นเด็ก ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารเขตฯ ร่วมกันปลูกต้นแก้วเจ้าจอม เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุขภาพประชานุกูล พื้นที่ 2 ไร่ 2.สวนหย่อมริมคลองประปา พื้นที่ 25 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่าวัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) พื้นที่ 5 ไร่ 2.สวนเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 72 พรรษา ถนนรัชดาภิเษก (หน้าศิริชัยไก่ย่าง) พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา 3.สวนสุวรรณสุทธารมย์ (วัดทองสุทธาราม) พื้นที่ 8 ไร่ 4.สวนหย่อมหน้าร้านนิตยาไก่ย่าง และสวนสุขภาพประชานุกูล พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา 5.สวนหย่อมใต้ทางด่วน ซอยประชาชื่น 30 พื้นที่ 157 ตารางวา 6.สวนเกษตรดาดฟ้าในเมือง พื้นที่ 117 ตารางวา 7.สวนปากซอยประชาชื่น 19 พื้นที่ 152 ตารางวา 8.สวนบริเวณสี่แยกวงศ์สว่าง พื้นที่ 64 ตารางวา 9.สวนธนะสิริ ซอยประชาชื่น 43 พื้นที่ 1 งาน 2 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในสวน รวมถึงบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ภายในสวนให้คงความร่มรื่นสวยงามอยู่เสมอ
ในการนี้มี นายศักดิ์ชัย ศิริวรรณ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางซื่อ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี#บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60 #BKKWASTEPAY
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)