(5 ก.ค. 68) เวลา 08.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าบริเวณหน้าวัดดวงแข ถนนจารุเมือง และด้านข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน เขตปทุมวัน โดยมี นางสาวเมธาวี ธารดำรงค์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายอิทธิพล อิงประสาร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตปทุมวัน สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า เช้านี้ได้ลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตปทุมวัน จำนวน 2 จุด จุดแรกบริเวณหน้าวัดดวงแข ถนนจารุเมือง ผู้ค้า 38 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-10.00 น. ส่วนใหญ่จะจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ข้าวกล่อง กับข้าว อาหารชุดใส่บาตร กาแฟโบราณ ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หมูทอด ขนมครก น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ผู้ค้าจะตั้งวางแผงค้าขายอาหาร บางส่วนนำรถเข็นมาจอดขายบนทางเท้าริมถนนจารุเมือง นอกจากนี้ยังมีผู้ค้าอีก 6 ราย ด้านถนนจรัสเมือง ตั้งร้านขายอาหารตามสั่ง ส้มตำ น้ำตก ไก่ทอด ปลาทอด น้ำพริกผักต้ม ซึ่งจุดนี้ไม่ได้อยู่ในจุดทำการค้าที่เขตฯ กำหนดไว้ อีกทั้งมีการประกอบอาหารก่อให้เกิดความสกปรกจากคราบน้ำมันและเศษอาหาร รวมถึงก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์บนพื้นทางเท้า มีการล้างทำความสะอาดภาชนะประกอบอาหารและจานชาม และเทน้ำลงในท่อระบายน้ำริมถนน ซึ่งอาจก่อให้เกิดการอุดตันของไขมันในท่อระบายน้ำ รวมทั้งไม่ถูกหลักสุขาภิบาล
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ เขตฯ มีแนวคิดจะย้ายผู้ค้าหน้าวัดดวงแข ถนนจารุเมือง มาทำการค้าหน้าแฟลตรถไฟ โดยเชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ประกอบกับจุดทำการค้าดังกล่าว จะตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าอาคารสำนักงานเขตปทุมวันแห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านหน้าอาคาร อย่างไรก็ตาม เขตฯ จะจัดทำแผนการจัดระเบียบผู้ค้า กำหนด Timeline ผังร้านค้า ขีดสีตีเส้นขอบเขตพื้นที่ทำการค้า ระยะห่างจากประปาหัวแดง โดยจะทดลองให้ทำการค้าเป็นระยะเวลา 1 เดือน มีการตรวจประเมินจากคณะกรรมการ หากผู้ค้าปฏิบัติได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้า ปี 67 จะพิจารณากำหนดเป็นจุดผ่อนผัน ส่วนผู้ค้าอาหารตามสั่ง ด้านถนนจารุเมือง เขตฯ จะพิจารณายกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าว เนื่องจากไม่อยู่ในจุดทำการค้าและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้า ปี 67 จุดต่อมาข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มีผู้ค้า 99 ราย ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก เกาเหลาเลือดหมู ชากาแฟ ข้าวเหนียว ไก่ทอด ตั้งแผงค้าบนทางเท้า บางส่วนตั้งแผงค้าและจอดรถเข็นบนพื้นผิวจราจร มีการตั้งวางโต๊ะเก้าอี้รับประทานอาหาร ซึ่งเขตฯ จะพิจารณายกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้า ปี 67 โดยจัดหาพื้นที่รองรับผู้ค้าต่อไป รวมถึงกำชับให้เขตฯ ติดตามการดำเนินงานตรวจจับผู้กระทำผิดฝ่าฝืนขับขี่รถจักรยานยนต์บนทางเท้า ผ่านระบบ BMA AI CAMERA การจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้างให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ปัจจุบันเขตปทุมวัน มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 11 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 183 ราย ดังนี้ 1.ซอยร่วมฤดี ผู้ค้า 5 ราย 2.ซอยปลูกจิต ผู้ค้า 24 ราย 3.ซอยโปโล ผู้ค้า 3 ราย 4.สะพานหัวช้าง ถนนพระรามที่ 1 ผู้ค้า 6 ราย 5.ข้างสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ผู้ค้า 99 ราย 6.ซอยเกษมสันต์ 3 ผู้ค้า 3 ราย 7.ซอยจุฬาลงกรณ์ 4 ผู้ค้า 7 ราย 8.ซอยเกษมสันต์ 1 ผู้ค้า 6 ราย 9.ถนนพระรามที่ 6 หน้าส.โบตั๋น ผู้ค้า 6 ราย 10.ถนนจรัสเมือง ตรงข้ามสีตบุตร ผู้ค้า 16 ราย 11.ถนนจรัสเมือง หน้าแฟลตรถไฟ ผู้ค้า 8 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือหน้าวัดดวงแข ผู้ค้า 38 ราย นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดประตู 5 สวนลุมฯ ผู้ค้า 108 ราย 2.ตลาดหัวมุมแยกราชดำริ ผู้ค้า 14 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนรองเมือง (ริมรั้วรถไฟ) ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 24 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เมษายน 2567 ในปี 2568 ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยต้นสน ผู้ค้า 17 ราย 2. หน้าห้างสยามสเคป ถนนพญาไท ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 ส่วนรอบศาลท้าวมหาพรหม แยกราชประสงค์ ผู้ค้า 3 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิก รวมถึงยกเลิกพื้นที่รอประกาศให้เป็นพื้นที่ทำการค้า จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณตลาดโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ ผู้ค้า 20 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2567 2.ถนนสารสิน ผู้ค้า 25 ราย ยกเลิกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 3.ถนนหลังสวน ผู้ค้า 34 ราย ยกเลิกวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันออก ผู้ค้า 35 ราย 2.ถนนพระรามที่ 6 ฝั่งตะวันตก ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 21 เมษายน 2568
#เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)