(17 ต.ค.65) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตพระโขนง เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 7 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตพระโขนง เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายโยธา ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรายได้ ฝ่ายคลัง ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สามารถจองคิวหรือนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application “BMA Q” ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายต่างๆ รวมถึงสำรวจแปลงที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุดให้ครบตามฐานข้อมูลของเขต จัดส่งหนังสือแจ้งเตือนประเมินภาษีประจำปี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามประมาณการที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งสอบถามปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน เพื่อให้การบริการประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จุดที่ 2 สวน 15 นาที ที่ดินกรมธนารักษ์ ข้างสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ซึ่งในพื้นที่เขตพระโขนง ยังไม่มีสวนสาธารณะหรือสวนระดับย่าน เขตฯ ได้จัดหาพื้นที่จัดทำสวนสาธารณะแห่งใหม่ บริเวณที่ราชพัสดุติดถนนสุขุมวิทใกล้กับสำนักงานขนส่งพื้นที่ 3 พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา ปัจจุบันอยู่ระหว่างส่งมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานครเข้าใช้ประโยชน์ตามหลักเกณฑ์การขอใช้ที่ราชพัสดุ สร้างลานออกกำลังกายกลางแจ้ง และสวนหย่อม เพื่อให้ประชาชนใช้พื้นที่ในการออกกำลังกาย และพักผ่อนหย่อนใจ
จุดที่ 3 สวน 15 นาที ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว ซอยวชิรธรรมสาธิต 27 เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่สาธารณะที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ภายในพื้นที่เขตและภายในชุมชน ปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำสวน 15 นาที เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้าน ดำเนินการแล้ว 2 แห่ง คือ 1.ที่ว่างซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค พื้นที่ 73.6 ตารางเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 2.ที่ว่างซอยวชิรธรรมสาธิต 27 ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว พื้นที่ 122.6 ตารางเมตร ดำเนินการแล้ว 80%
จุดที่ 4 ชุมชนหมู่บ้านธรรมสาธิตวิลล่า มีความประสงค์ยกถนนและพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ มีพื้นที่ 27.2 ไร่ ประกอบด้วย 2 ซอย คือ ซอยวชิรธรรมสาธิต 57 แยก 26 และแยก 28 บ้านเรือน 418 หลัง จำนวน 418 ครัวเรือน ประชากร 1,985 คน สำหรับการยกพื้นที่ส่วนกลางและถนนในชุมชนหมู่บ้านธรรมสาธิตวิลล่า ให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แก่กรุงเทพมหานคร ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ. 2536 และระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพย์สินที่ประชาชนทั่วไปใช้สอยร่วมกัน พ.ศ. 2537 ที่ดินที่จะยกให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แก่กรุงเทพมหานคร ชุมชนจะต้องดำเนินการจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและประชาชนมีมติเห็นชอบให้ยกพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นที่สาธารณประโยชน์แก่กรุงเทพมหานคร เขตฯ จึงจะสามารถดำเนินการตามข้อบัญญัติฯ และระเบียบได้ เมื่อหมู่บ้านธรรมสาธิตเป็นโครงการจัดสรรที่ดินตาม ปว 286 ต้องบังคับตามพ.ร.บ.จัดสรรปี 43 หากจะให้ถนนเป็นสาธารณะต้องจัดตั้งนิติบุคคล หรือเจ้าของโครงการดำเนินการยกให้เป็นสาธารณะ โดยคณะกรรมการจัดสรรหรือเจ้าของร่วมยินยอม ทั้งนี้ หลังจากชุมชนหมู่บ้านธรรมสาธิตวิลล่า ได้เลือกตั้งคณะกรรมการชุมชนแล้ว ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม จะดำเนินการจัดตั้งนิติชุมชนต่อไป
จุดที่ 5 ต้นแบบการแยกขยะ ชุมชนเกตุไพเราะ 3-5 ซอยวชิรธรรมสาธิต 57 พื้นที่ 15 ไร่ เป็นชุมชนแออัด บ้านเรือน 121 หลัง จำนวน 125 ครัวเรือน ประชากร 512 คน มีอาสาสมัครชักลากมูลฝอย 1 คน โดยชักลากขยะจากชุมชนไปบังจุดพักขยะหลังตลาดนัดชุมชน การดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การทำน้ำหมักชีวภาพ โดยการใช้ขยะอินทรีย์จากตลาดและบ้านเรือนของประชาชน ทำให้ขยะอินทรีย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ไม่มีเหลือทิ้งเป็นขยะ และนำน้ำหมักที่ได้ไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียในชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนเลี้ยงปลาดุกบริเวณใต้ถุนบ้านและพื้นที่ว่างในชุมชนด้วยขยะอินทรีย์ เพื่อกำจัดขยะอินทรีย์ในชุมชนให้หมดไป นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มรายได้จากการขายปลาดุกอีกด้วย การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในชุมชน โดยการใช้พื้นที่ว่างในชุมชนปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงโค และทำปุ๋ยหมัก ซึ่งเป็นต้นแบบของการใช้ชีวิตตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานองค์กรทั้งในและต่างประเทศ
จุดที่ 6 จุดเสี่ยงความปลอดภัย บริเวณปากซอยสุขุมวิท 62 จุดดังกล่าวเป็นทางร่วมทางแยกและใกล้ทางลงทางด่วนที่มีประชาชนข้ามถนนจำนวนมาก เขตฯ ได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรในเวลาเร่งด่วน ในส่วนของป้ายบดบังผู้ขับขี่ ได้แก่ ป้ายวัด ป้ายโรงเรียน ป้ายเอกชน รวมถึงทางม้าลายสีจืดจาง เขตฯ ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการแก้ไข จัดทำป้ายชะลอความเร็วให้เห็นเด่นชัด ตีเส้นชะลอความเร็ว และปรับปรุงทาสีทางม้าลายใหม่ให้ชัดเจน
จุดที่ 7 ตรวจแพลนท์ปูนซีแพค ตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เขตพระโขนง มีแพลนท์ปูน จำนวน 3 แห่ง ดังนี้ 1.บริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด มีรถโม่ผสมคอนกรีต จำนวน 18 คัน ติดตั้งอุปกรณ์รองรับเศษปูนตกหล่นครบทุกคัน 2.บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้างจำกัด (ซีแพค) มีรถโม่ผสมคอนกรีต จำนวน 17 คัน ติดตั้งอุปกรณ์รองรับเศษปูนตกหล่นครบทุกคัน 3.บริษัท โอ อาร์ ซี พรีเมียร์ จำกัด มีรถโม่ผสมคอนกรีต จำนวน 13 คัน ติดตั้งอุปกรณ์รองรับเศษปูนตกหล่นครบทุกคัน สถานที่ตั้งแพลนท์ปูนทั้ง 3 แห่ง อยู่ในบริเวณถนนทางรถไฟสายเก่า ส่วนแผนการตรวจสอบแพลนท์ปูน เนื่องจากไม่มีลักษณะเป็นการก่อสร้าง ฝ่ายโยธาจึงไม่มีแผนการตรวจ แต่จะออกตรวจสอบเป็นครั้งคราว ส่วนฝ่ายเทศกิจ ได้ดำเนินการตรวจสอบพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 เช่น กำชับเรื่องการล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ก่อนนำไปวิ่งบนถนนสายหลัก การพ่นฝอยละอองน้ำ เพื่อดักจับฝุ่นละอองในอากาศ
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางสาววรุณลักษณ์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตพระโขนง สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนหมู่บ้านธรรมสาธิตวิลล่า ชาวชุมชนเกตุไพเราะ 3-5 และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#บริหารจัดการดี #สุขภาพดี #สิ่งแวดล้อมดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)