(27 พ.ค. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าตลาดเจ.ซี. ถนนจันทน์ มีผู้ค้า 42 ราย ส่วนใหญ่จะขายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ตั้งวางแผงค้าติดกับแนวรั้วริมถนนจันทน์ อยู่ภายในแนวเส้นขอบเขตที่กำหนด ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 116 ราย ดังนี้ 1.หน้าตลาดเจ.ซี. ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ปากซอยสาทรใต้ 11 ถนนสาทรใต้ ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ถนนจันทน์ 18/7 ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าตึกที.พี.ไอ. ถนนจันทน์เก่า ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย 2.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย ยกเลิกวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือหน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ซอยเจริญกรุง 57 ผู้ค้า 11 ราย ยกเลิกเดือนมกราคม 2568 ส่วนจุดทำการค้าปากซอยสาทรใต้ 11 ถนนสาทรใต้ ผู้ค้า 14 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิก นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณข้างวัดสุทธิวราราม รองรับผู้ค้าได้ 40 ราย Hawker Center 100 ห้องสาทร บริเวณใกล้ทางขึ้นลง BRT อาคารสงเคราะห์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ รองรับผู้ค้าได้ 30 ราย Hawker Center ลานกีฬาสาทร บริเวณใกล้ลานกีฬา ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 17 รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า ขอความร่วมมือให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮุยแลนด์ฟาร์มาซี ซอยเย็นจิต 6 ถนนจันทน์ ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ยาน้ำสตรีเบนโล ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหม้อไอน้ำตามแผนงานที่กำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเนื่อง ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกขนส่งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการและลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานประกอบการ/โรงงาน 35 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง การตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
พัฒนาสวน 15 นาที สวนเจริญสุขใจ เฟส 2 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ว่าง ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมและลานกีฬาใต้ทางด่วนซอยอยู่ดี พื้นที่ 7 ไร่ 84 ตารางวา 2.สวนหย่อมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหลังตลาดแสงจันทร์ พื้นที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา 2.ศูนย์เรียนรู้เขตสาทร (โครงการโคกหนองนา ใจกลางเมือง) พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 3.สวนหย่อมสี่แยกถนนเจริญราษฎร์ตัดถนนจันทร์ (Dog Park) พื้นที่ 3 งาน 17 ตารางวา 4.ลานอเนกประสงค์ ศูนย์การค้าวรรัตน์ พื้นที่ 2 งาน 31 ตารางวา 5.สวนหย่อมทางลงทางพิเศษสาทร พื้นที่ 1 ไร่ 95 ตารางวา 6.สวน 15 นาที เจริญสุขใจ พื้นที่ 1 งาน 7.สวนสุขใจ @ บ้านแบบ พื้นที่ 1 ไร่ 88 ตารางวา 8.สวนสุขใจ เจริญราษฎร์ พื้นที่ 1 งาน 9.สวน 15 นาที เจริญสุขใจ เฟส 2 พื้นที่ 128 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.สวน 15 นาที หลังแฟลตตำรวจ พื้นที่ 1 งาน อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งานอย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บ้านขนิษฐาแอนด์แกเลอรี่สาทร มีบุคลากร 80 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิล เช่น แก้วพลาสติก กระป๋อง 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกใส่ถังขยะแยกประเภทเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บ 3.ขยะอันตราย คัดแยกทิ้งในถังขยะที่รองรับขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย 4.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 209 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 127 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 22 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ในการนี้มี นายธวัชชัย แพงไทย ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)