(24 พ.ค. 68) เวลา 07.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตพญาไท จำนวน 4 จุด ประกอบด้วย บริเวณหน้าสำนักงาน ป.ป.ส. ถนนดินแดง ถนนประดิพัทธ์ทั้ง 2 ฝั่ง หน้าโรงแรม Grand Tower Inn และซอยพหลโยธิน 9

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันนี้ได้ลงพื้นที่ติดตามจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตพญาไท จำนวน 4 จุด โดยมีคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตพญาไทร่วมลงพื้นที่ จุดแรกเป็นพื้นที่ทำการค้าหน้า ป.ป.ส. ถนนดินแดง มีผู้ค้า 44 ราย ช่วงเวลาทำการค้าแบ่งเป็น 3 รอบ คือเช้า กลางวัน เย็น ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน เช่น ข้าวกล่อง ข้าวเหนียวหมูทอด ผลไม้ ตั้งวางแผงค้าบนทางเท้าแนวนอกอาคาร บางส่วนตั้งแผงค้าอยู่ในแนวอาคาร อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา พบว่าผลการตรวจประเมินของคณะกรรมการสำนักงานเขต และคณะกรรมการสำนักเทศกิจ ในบางหัวข้อมีความแตกต่างกัน โดยเน้นย้ำให้เขตฯ พิจารณาตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 2567 ให้รอบคอบและถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งวางแผงค้าจากด้านนอก หรือย้ายเข้ามาอยู่ด้านในอาคาร ความกว้างของทางเท้า ระยะห่างจากสะพานลอย ระยะห่างจากป้ายรถเมล์ การล้างทำความสะอาดพื้นทางเท้าในจุดที่ผู้ค้าตั้งวางสินค้า จุดที่ 2 บริเวณถนนประดิพัทธ์ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาออก มีผู้ค้า 67 ราย ฝั่งขาเข้า ผู้มีค้า 21 ราย จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ข้าวเหนียวหมูทอด ไก่ทอด ผลไม้ตามฤดูกาล จากการลงพื้นที่พบว่าในจุดนี้ผู้ค้าจะตั้งวางแผงค้ากระจัดกระจายกัน โดยให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางจัดระเบียบใหม่ เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจเพื่อจัดเป็นโซนในการตั้งวางแผงค้าให้อยู่รวมกัน กำหนดจุดให้ชัดเจน หากอยู่หน้าอาคารร้านค้าให้หารือร่วมกับเจ้าของอาคารในการใช้พื้นที่ด้านหน้า หรืออาจใช้พื้นที่ในช่วงที่ไม่มีอาคารร้านค้าแทน อีกทั้งในจุดดังกล่าวผู้ค้าส่วนหนึ่งจะทำการค้าในช่วงเวลาเช้า อีกส่วนหนึ่งจะทำการค้าในช่วงเวลาเย็น การแบ่งโซนกำหนดจุดทำการค้าในจุดเดียวกัน จึงสามารถทำได้สะดวก เนื่องจากผู้ค้าจะทำการค้าเหลื่อมเวลากัน เมื่อผู้ค้ารอบเช้าออกไป ผู้ค้ารอบบ่ายจะเข้ามาแทน จุดที่ 3 บริเวณหน้าโรงแรม Grand Tower Inn มีผู้ค้า 4 ราย ตั้งวางแผงค้าขายของชำ ประเภทอาหารสด ลูกชิ้นปลา ผักสด เพื่อนำไปประกอบอาหาร ในจุดนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้า ผู้ค้าให้ความร่วมมือปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยให้เขตฯ กำชับผู้ค้าให้ดูแลทำความสะอาดพื้นทางเท้าในจุดที่ผู้ค้าตั้งวางสินค้า หลังเลืกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงกวดขันไม่ให้รถเร่ขายของหรือรถจักรยานยนต์พ่วงข้างจอดขายสินค้าริมถนน จุดที่ 4 พื้นที่ทำการค้าบริเวณปากซอยพหลโยธิน 9 มีผู้ค้า 17 ราย จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน ข้าวเหนียวหน้าหมูฝอย ขนมปัง แซนวิช พวงมาลัย โดยนำโต๊ะขนาดเล็กมาตั้งวาง และพับเก็บกลับบ้านเมื่อเลิกทำการค้า อีกทั้งรูปแบบแผงค้าจะเป็นลักษณะเดียวกันทั้งหมด ในจุดนี้ถือว่าเป็นต้นแบบพื้นที่ทำการค้า เช่นเดียวกับซอยพหลโยธิน 7 ซึ่งมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สามารถเป็นต้นแบบ เพื่อให้เขตอื่น ๆ นำไปพัฒนาในพื้นที่เขตตนเองต่อไป
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านั้น เจ้าหน้าที่เทศกิจที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่แต่ละจุด จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยพิจารณาตามร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ปี 2567 ซึ่ง 4 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 แต่ละพื้นที่เขตจะผ่านขั้นตอนการตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้าหาบเร่-แผงลอย ตามหลักเกณฑ์ทำการค้า ปี 2567 จากคณะกรรมการตรวจประเมิน จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการสำนักงานเขต คณะกรรมการสำนักเทศกิจ คณะกรรมการผู้ตรวจราชการ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนนำผลการตรวจประเมิน เข้าที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการฯ ระดับเขต และคณะกรรมการฯ ระดับกทม. เพื่อพิจารณาให้เป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันหรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 ซึ่งคณะกรรมการฯ จะแจ้งให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่หรือผู้ค้ารายใด ไม่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ทำการค้า ปี 2567 เพื่อผู้ค้าได้หาพื้นที่ทำการค้าแห่งใหม่ หากพื้นที่ทำการค้าใดผ่านเกณฑ์ จะยกระดับเป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน โดยขั้นตอนสุดท้ายการกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันหรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568
“การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ไม่ใช่การยกเลิกไม่ให้ทำการค้า แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณนั้น ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความสะอาด ในขณะเดียวกันผู้ค้าในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทำการค้ามานานแล้ว ควรมีการปรับปรุงแผงค้าให้ดีขึ้น รวมถึงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้สะดวก สุดท้ายแล้วผู้ค้าและประชาชนยังคงใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ย้ำในตอนท้าย
ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 165 ราย ได้แก่ 1.ซอยพหลโยธิน 7 ผู้ค้า 77 ราย 2.ถนนประดิพัทธ์ ฝั่งขาออก ผู้ค้า 67 ราย 3.ถนนประดิพัทธ์ ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 21 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 119 ราย ได้แก่ 1.ถนนสาลีรัฐวิภาค ผู้ค้า 54 ราย 2.หน้าสำนักงาน ป.ป.ส. ถนนดินแดง ผู้ค้า 44 ราย 3.ซอยพหลโยธิน 9 ผู้ค้า 17 ราย 4.หน้าโรงแรม Grand Tower Inn ผู้ค้า 4 ราย ในส่วนของการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่เขตฯ ทั้ง 7 จุด ได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสิน ปรับปรุงลักษณะของแผงค้าให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เปลี่ยนร่มและผ้าใบกันแดดเป็นสีชมพู โดยเขตฯ ได้จัดทำคิวอาร์โค้ดแสดงตัวตนผู้ค้าทุกราย ลดขนาดของแผงค้าให้เล็กลง กำชับผู้ค้าหมั่นตรวจสอบไม่ให้ร่มยื่นล้ำเข้าไปในพื้นผิวจราจร นอกจากนี้ เขตฯ ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) จัดทำ Hawker Center บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต่อมาได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ให้ใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 10 จัดทำ Hawker Center รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสายชล จังสมยา ผู้อำนวยการเขตพญาไท พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตพญาไท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)