ทุ่งครุชวนชุมชนคอลิดีน ประชาอุทิศ 54 แยก 10 ไม่เทรวม จับตาฝุ่นจิ๋วเคฟ ลูมินัส บางมด ปั้นสวนพุทธมงคลข้างลานวัดพุทธบูชา

(16 พ.ค. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทุ่งครุ ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนคอลิดีน ซอยประชาอุทิศ 54 แยก 10 พื้นที่ 40 ไร่ มีบ้านเรือน 341 หลังคาเรือน ประชากร 1,308 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารออกจากครัวเรือนก่อนนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือนำไปเลี้ยงปลา แพะ ไก่ นอกจากนี้ มีเกษตรกรมารับขยะเศษอาหารสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือหากมีจำนวนมากจะเรียกให้เข้ามารับก่อนกำหนด 2.ขยะรีไซเคิล ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการคัดแยกขยะแต่ละประเภท คัดแยกขยะรีไซเคิล โดยเก็บไว้ที่บ้านพักอาศัยของตนเอง เพื่อนำไปขายทุกสิ้นเดือนที่ร้านรับซื้อของเก่าในบริเวณชุมชน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป นำมาทิ้งที่จุดพักทิ้งขยะของชุมชน เขตฯ จัดเก็บตามรอบเวลากำหนด 4.ขยะอันตราย จัดสถานที่สำหรับเป็นที่พักขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บทุกสิ้นเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 550 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 350 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ เคฟ ลูมินัส บางมด (Kave Luminous Bangmod) ถนนพุทธบูชา โดยมี บริษัท เอสเตท คิว จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 3 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้าง ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนดเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 31 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 13 แห่ง ประเภทควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง ประเภทจุดถมดิน-ท่าทราย 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

พัฒนาสวน 15 นาที สวนพุทธมงคล วัดพุทธบูชา ถนนพุทธบูชา ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูทัศน์ จัดทำเป็นสวน 15 นาที ปูแผ่นอิฐทางเดิน ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นชงโค เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น เพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 17-18 พื้นที่ 3 ไร่ 3 งาน 70 ตารางวา 2.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 69 ตารางวา 3.สวนหย่อมซอยประชาอุทิศ 54 แยก 6 พื้นที่ 2 งาน 30 ตารางวา 4.สวนหย่อมหน้าหมู่บ้านนริศา พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมสุขสวัสดิ์สวนธน ซอยประชาอุทิศ 33 พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 15 ตารางวา 2.สวนหย่อมลานนกเขา ซอยประชาอุทิศ 79 แยก 6 พื้นที่ 2 งาน 94 ตารางวา 3.สวนหย่อมข้างคลองแจงร้อน ซอยประชาอุทิศ 33 (สวนธนซอย 1 แยก 13) พื้นที่ 2 งาน 94 ตารางวา 4.สวนพุทธมงคล วัดพุทธบูชา ถนนพุทธบูชา พื้นที่ 88 ตารางวา 5.สวนหย่อมลานตระกร้อ พื้นที่ 2 งาน 54 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขตฯ มีสวน 15 นาที ที่จัดทำขึ้นใหม่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเขตฯ อื่น ๆ โดยให้เขตฯ สำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 170 ราย ดังนี้ 1.ตลาดในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 145 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.บริเวณสวนหย่อมโครงการ 18 ในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 3.หน้าแฟลต กทม. ซอยประชาอุทิศ 90 ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. 4.ปากซอยพุทธบูชา 44 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 7 ราย นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณสวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในซอยประชาอุทิศ 79 รองรับผู้ค้าได้ 24 ราย ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. ผู้ค้า 11 ราย รอบเย็น 14.00-21.00 น. ผู้ค้า 13 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 พิจารณาในจุดทำการค้าที่สามารถพัฒนาเป็นตลาดนัดชุมชน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป

ในการนี้มี นายพงศ์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทุ่งครุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
#บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200