บ้านอิ่มใจ Emergency Shelters เปิดให้บริการต้นปีหน้า กทม. พร้อมจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาคนไร้บ้าน

 

      

 

(11 พ.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคม ดำเนินการปรับปรุงอาคาร 3 ชั้น การประปาแม้นศรี (เดิม) เพื่อดำเนินการบ้านอิ่มใจเป็นที่พักชั่วคราว Emergency Shelters เพื่อพัฒนาการจัดบริการสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์แบบครบวงจรสำหรับคนไร้บ้าน ในการส่งเสริมสนับสนุนให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการในด้านต่างๆ เช่น ด้านความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองคนที่พร้อมพักอาศัยร่วมกับผู้อื่นเพื่อความปลอดภัย 

 

 

ดัานสวัสดิการ ด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำ การตรวจสุขภาพและการรักษาพยาบาล การจัดทำข้อมูล ทะเบียนประวัติบุคคล การส่งเสริมการฝึกอาชีพ บริการรับสมัครงานและการจ้างงาน 

 

 

ด้านสุขอนามัย บริการซัก อบ อาบ จุดบริจาคอาหาร/สิ่งของ และจุดแจกอาหาร และการประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกลับคืนสู่ครอบครัว/ชุมชน และการจัดหาที่อยู่อาศัย 

 

 

ด้านส่งเสริมอาชีพ ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะทางสังคม จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้คนไร้บ้านมีหลักในชีวิต และสนับสนุนให้กลับไปทำงานได้ง่ายขึ้น 

 

 

ทั้งนี้ บ้านอิ่มใจสามารถรองรับคนไร้บ้านได้ จำนวน 200 คน/วัน (ชาย 100 คน หญิง 100 คน) ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี พ.ศ. 2569

 

 

 

ในการปฎิบัติการร่วมลงพื้นที่ตรวจตราคนไร้บ้าน ได้มีการบูรณาการร่วมระหว่าง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักพัฒนาสังคม(สพส.) สำนักงานเขตปทุมวันสำนักงานเขตบางรักและสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ร่วมกับ สน. พื้นที่ และภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่จัดระเบียบคนไร้บ้าน บริเวณคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่วันที่ 3-9 พ.ค. 68 พบทั้งหมด 42 ราย แยกเป็น ชาย 40 ราย หญิง 2 ราย โดยให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 1. ส่งศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร 

เพศชาย จำนวน 3 ราย 2. ให้คำแนะนำปรึกษา ประชาสัมพันธ์ให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ณ จุดบริการ สวัสดิการสังคม (drop in) บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และบริเวณตรอกสาเก เขตพระนคร จำนวน 38 ราย 3. ประสานส่งมูลนิธิ Bangkok Community Health Foundation เพศชาย จำนวน 1 ราย

 

 

 

 

สำหรับอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และภารกิจของแต่ละหน่วยงาน เกี่ยวกับคนไร้บ้าน เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ : การดำเนินการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร เป็นการสนับสนุน และส่งเสริมการสร้างโอกาสทางสังคม โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เช่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) บ้านมิตรไมตรีห้วยขวาง บ้านมิตรไมตรีสายไหม บ้านมิตรไมตรีอ่อนนุช และบ้านมิตรไมตรีธนบุรี โดยจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจตรา สอดส่องดูแล เฝ้าระวัง ป้องกันไม่ให้คนเร่ร่อนเข้ามาพักอาศัยหรือใช้เป็นที่หลับนอนในพื้นที่สาธารณะ โดยคัดกรอง ทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ การให้ความช่วยเหลือ และประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงบริการสวัสดิการของภาครัฐ เช่น ด้านที่พักอาศัย ด้านการรักษาพยาบาล การทำบัตรประชาชน ด้านการส่งเสริมการฝึกอาชีพ ด้านสุขภาพอนามัย และด้านการประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

 

 

– กรณีคนไร้ที่พึ่งที่ต้องการด้านที่พักอาศัยจะประสานให้ความช่วยเหลือและส่งต่อเข้าที่พักอาศัยที่จัดไว้รองรับ ซึ่งมีที่พักอาศัยชั่วคราว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานคร 2) บ้านมิตรไมตรีห้วยขวาง 3) บ้านมิตรไมตรีสายไหม 4) บ้านมิตรไมตรีอ่อนนุช 5) บ้านมิตรไมตรีธนบุรี นอกจากนี้ยังมีที่พักอาศัยระยะยาวในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ และที่พักใกล้กรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนนทบุรี สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรี และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557  

 

 

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือคนคนไร้บ้านเพื่อการเข้าถึงสิทธิและได้รับบริการสวัสดิการด้านต่าง ๆ ต้องได้รับความยินยอมสมัครใจของคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 มาตรา 23 ระบุว่าในกรณีที่ปรากฏว่าคนไร้ที่พึ่งผู้ใดเป็นบุคคลซึ่งมีกฎหมายเฉพาะให้การคุ้มครองอยู่แล้วให้สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็นในเบื้องต้น แล้วจัดส่งคนไร้ที่พึ่งผู้นั้นไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายนั้น โดยความยินยอมของคนไร้ที่พึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรเพื่อประโยชน์ของคนไร้ที่พึ่ง สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจะดำเนินการรับตัวคนไร้ที่พึ่ง ผู้นั้นไว้ในความดูแลและมีบทบาท

  1) ร่วมกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือให้สอดคล้องกับความต้องการของคนเร่ร่อนไร้บ้านและนโยบายของรัฐบาลโดยนำข้อมูลจากการสำรวจสภาพปัญหาความต้องการของคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งในพื้นที่เขตของกรุงเทพมหานคร มาใช้เป็นกลไกการขับเคลื่อนทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายในการจัดทำนโยบายเพื่อวางแผนแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน

  2) ผลักดันให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่ และควบคุม บังคับการใช้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เป็นต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

 3) จัดหน่วยเคลื่อนที่ประสานงานผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เพื่อสำรวจคัดกรอง แจ้งสิทธิและสวัสดิการที่พึงได้รับให้ความช่วยเหลือดูแลคุณภาพชีวิตคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งในพื้นที่และส่งต่อเข้ารับการคุ้มครองในสถานที่รัฐจัดให้ พร้อมจัดบริการปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ตามสภาพปัญหาของแต่ละคน

 4) ผู้นำชุมชนและกรรมการชุมชนเป็นแกนนำลงพื้นที่ คัดกรอง ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ความช่วยเหลือครอบครัว เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มคนที่ประสบปัญหาต้องออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

 

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักพัฒนาสังคมได้ดำเนินการศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ เป็นการสนับสนุนการสร้างโอกาสทางสังคมและขับเคลื่อนงานด้านคนไร้บ้าน ดำเนินการในรูปแบบให้บริการด้านการรับเรื่องราว คัดกรอง ให้คำปรึกษาแนะนำ ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริง การเยี่ยมบ้าน และประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของกรุงเทพมหานครทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ สำนักงานเขต 50 เขต สำนักเทศกิจ สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมสุขภาพจิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิ Bangkok Community Health Foundation เป็นต้น

 

 

ด้านตำรวจ มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ได้แก่ 1)ป้องกันการกระทำผิด และดูแลการบังคับใช้กฏหมายอย่างถูกต้องเหมาะสม 2) ดูแลความปลอดภัยและความเป็นเรียบร้อยในพื้นที่ที่รับผิดชอบ 3) ดูแลการจราจร ความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

 

 

ภาคีเครือข่าย และภาคประชาสังคม ได้แก่หน่วยงานภาคเอกชน เช่น มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิ Bangkok Community Health Foundation เป็นต้น ร่วมบูรณาการดำเนินการเป็นลักษณะทีมสหวิชาชีพเพื่อให้เกิดเครือข่ายในการทำงานอย่างเป็นระบบและ เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกลุ่มคนเร่ร่อนไร้ที่พึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการให้มากขึ้น โดยเฉพาะทางมูลนิธิกระจกเงา ที่ดำเนินการโครงการจ้างวานข้า เพื่อช่วยหางานสร้างรายได้ สร้างความมั่นคง ให้คนไร้บ้าน มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงดูตนเอง และให้คนไร้บ้านได้รับสิทธิสวัสดิการอย่างเท่าเทียม โดยการจ้างงานคนไร้บ้านในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเขตในพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตพระนคร สำนักงานเขตพญาไท ให้คนไร้บ้านที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการจ้างวานข้าไปทำงานบริการสาธารณะต่างๆ 

 

 

#สังคมดี

—————————-

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200