คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โรงงานผลิตเหล็กย่านประชาอุทิศ ตรวจแยกขยะเขตทุ่งครุ เล็งเพิ่มสนามกีฬาข้างศูนย์สร้างสุขฯ สำรวจที่ดินประเมินภาษี ปักหมุด Hawker Center สวนหย่อมประชาอุทิศ 79 ชมคัดแยกขยะชุมชนร่วมรัฐสามัคคี
(26 ม.ค.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทุ่งครุ ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท คอทโก้เมททอลเวอร์คส จำกัด (มหาชน) Cotto Metal Works Public Company Limited (CCM) ถนนประชาอุทิศ ซึ่งประกอบกิจการผลิตท่อเหล็ก เหล็กรูปพรรณขึ้นรูปเย็น และศูนย์บริการเหล็ก ทั้งนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัย ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 28 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน/ตรวจวัดควันดำ 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ 7 แห่ง ประเภทอู่เมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามงบประมาณโครงการปรับปรุงศูนย์สร้างสุขทุกวัย เขตทุ่งครุ ซอยประชาอุทิศ 90 ซึ่งสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ได้ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณด้านข้างเป็นสนามกีฬาเพิ่มเติม ประกอบด้วย สนามบาสเก็ตบอล สนามฟุตซอล สนามแบดมินตัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ประสานเขตฯ ร่วมกันพิจารณารูปแบบของสนามต่างๆ และการจัดสรรพื้นที่ใช้งานเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
เยี่ยมชมการคัดแยกขยะ ภายในสำนักงานเขตทุ่งครุ วิธีการคัดแยกขยะ โดยมีถังขยะแยกประเภทในแต่ละอาคาร ดังนี้ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ได้แก่ ขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก กระป๋อง ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อน วัตถุอันตราย สารเคมี ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) ได้แก่ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง สำหรับใส่หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือบุคลากรของเขตฯ และประชาชนที่มาติดต่อราชการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีจุดรวบรวมขยะรีไซเคิลประเภทขวดพลาสติกใสและขุ่น พลาสติกชนิดอ่อน และจุดทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง
สำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่ว่างข้างถนนเลียบทางด่วนกาญจนาภิเษก ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 53,610 แปลง สำรวจแล้ว 44,880 แปลง คงเหลือ 8,730 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 54,518 แห่ง สำรวจแล้ว 32,914 แห่ง คงเหลือ 21,604 แห่ง ห้องชุด 6,342 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 114,470 รายการ สำรวจแล้ว 84,136 รายการ คงเหลือ 30,334 รายการ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าอาจมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น เขตฯ จึงต้องลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินในการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำรวจพื้นที่จัดทำ Hawker Center บริเวณสวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ซอยประชาอุทิศ 79 รองรับผู้ค้ารอบเช้าและรอบเย็น 24 ราย เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด มีผู้ค้ารวมทั้งสิ้น 198 ราย ได้แก่ 1.ตลาดในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 140 ราย 2.สวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 10 ในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 12 ราย 3.สวนหย่อมหมู่บ้านวิเศษสุขนคร โครงการ 18 ในซอยประชาอุทิศ 79 ผู้ค้า 12 ราย 4.หน้าอาคารสงเคราะห์ กทม. ประชาอุทิศ 90 ผู้ค้า 13 ราย 5.ปากซอยพุทธบูชา 46 ผู้ค้า 17 ราย 6.ปากซอยพุทธบูชา 44 ผู้ค้า 4 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงย้ายผู้ค้าที่อยู่ปากซอยให้เข้าไปอยู่ในซอย สำหรับ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม พร้อมทั้งบริหารจัดการดูแลทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบความสะอาดของสินค้าและอาหารที่จำหน่าย มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนร่วมรัฐสามัคคี (ดอนกระต่าย) ซอยประชาอุทิศ 5 แยก 9 มีบ้านเรือน 220 หลัง ประชากร 1,020 คน วิธีการจัดการขยะ ได้แก่ 1.การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง 2.จัดทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ 3.จัดทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้ง 4.ถังหมักรักษ์โลก 5.ธนาคารขยะ สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการคัดแยก 2.4 ตัน/สัปดาห์ เฉลี่ย 0.34 ตัน/วัน ปริมาณขยะหลังดำเนินการคัดแยก 2.2 ตัน/สัปดาห์ เฉลี่ย 0.31 ตัน/วัน เขตฯ เข้าจัดเก็บขยะสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายพงศ์ศักดิ์ พูลยรัตน์ ผู้อำนวยการเขตทุ่งครุ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทุ่งครุ สำนักเทศกิจ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักสิ่งแวดล้อม ชาวชุมชนร่วมรัฐสามัคคี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บริหารจัดการดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)