
(17 เม.ย. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตมีนบุรี ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที สวนชมพูพันธ์ทิพย์ ถนนสีหบุรานุกิจ ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ว่างริมคลองแสนแสบ โรยกรวดทางเดินรอบสวน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 พื้นที่ 5 ไร่ 2.สวนมีนรมณีย์ พื้นที่ 1 งาน 50 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ 1.สวนธนาคารต้นไม้มีนบุรี พื้นที่ 3 งาน เป็นแหล่งขยายพันธุ์ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น และพืชผักไว้แจกจ่ายประชาชน 2.สวนมีนบุรีภิรมย์ ถนนสีหบุรานุกิจ หลังโรงเรียนสตรีเศรษฐบุตรบำเพ็ญ พื้นที่ 2 ไร่ จุดเด่นของสวนคือ เสาชิงช้าจำลอง ซึ่งตั้งโดดเด่นอยู่กลางสวน 3.สวนสุดสายที่ปลายราม ถนนรามคำแหง พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 4.สวนสามวาสาม พื้นที่ 3 งาน 5.สวนชมพูพันธ์ทิพย์ พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา 6.สวนบึงขวาง พื้นที่ 12 ไร่ 2 งาน อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ ทำคันดิน ทำร่องน้ำ ปลูกต้นไม้ยืนต้น 7.สวนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ พื้นที่ 3 งาน อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ 8.สวนประชาร่วมใจ พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน อยู่ระหว่างออกแบบสวน 9.สวนนิมิตใหม่ พื้นที่ 250 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.สวนหลังคอนโดแอทโมซโฟลว์ มีนบุรี ถนนสีหบุรานุกิจ อยู่ระหว่างดำเนินการ 11.สวนซอยบัวขาว พื้นที่ 750 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 12.สวนหลังแฟลตอัยการมีนบุรี พื้นที่ 450 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมภายในสวน เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ ซึ่งเขตฯ ได้ยกเลิกจุดทำการค้าดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.พ.67 ต่อมาเขตฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาที่ว่างริมถนน เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 63 ราย ได้แก่ 1.ถนนราษฎร์อุทิศ ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-21.00 น. 2.ถนนสุวินทวงศ์ ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 3.ถนนหทัยราษฎร์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนรามคำแหง ผู้ค้า 10 ราย 3.ถนนหม่อมเจ้าสง่างามสุประดิษฐ์ ผู้ค้า 3 ราย ยกเลิกวันที่ 29 ก.พ.67 ในปี 68 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนสามวา ผู้ค้า 8 ราย 2.ถนนสีหบุรานุกิจ ผู้ค้า 25 ราย ยกเลิกวันที่ 31 มี.ค.68 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่หน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ซอยรามคำแหง 118-190 จากเดิมเป็นพื้นที่ต่ำกว่าทางเท้า โดยยกระดับพื้นให้สูงขึ้นเสมอกับทางเท้า พร้อมทั้งก่อสร้างรางระบายน้ำและตะแกรงเหล็กปิดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นจุดที่เขตฯ จะจัดทำเป็น Hawker Center ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยใช้พื้นที่ว่าง อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้ซื้อ พร้อมคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ สามารถรองรับผู้ค้าได้ 90 แผงค้า ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับสำนักการคลัง เรื่องค่าธรรมเนียมและค่าบริการทำการค้าในที่สาธารณะ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการจำหน่ายสินค้าในพื้นที่สาธารณะตามประกาศกรุงเทพมหานครปี 67 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่เขตฯ มีพื้นที่รกร้างและมีการลักลอบนำขยะมาทิ้ง จำนวน 13 แห่ง ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด และจัดเก็บขยะออกจากพื้นที่แล้ว 11 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยไว้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ให้ดำเนินการจัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้ง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ หมู่บ้าน แกรนด์พลีโน่ บางชัน ซอยรามอินทรา 117 พื้นที่ 48 ไร่ ประชากร 150 คน บ้านเรือน 123 หลังคาเรือน เข้าอยู่อาศัยแล้ว 41 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะเศษอาหาร เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยนำไปจำหน่ายกับแคมเปญ แยก-เท-ได้ Know Waste No Waste 3.ขยะทั่วไป กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะให้ถูกประเภท 4.ขยะอันตราย กิจกรรมส่งเสริมการคัดแยกขยะให้ถูกประเภท สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนและหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 65 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 3 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการโคซี่ รามฯ 189 สเตชั่น (Cozi Ram 189 Station) ถนนรามคำแหง ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 8 ชั้น จำนวน 4 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้จัดทำรั้วสังกะสีทึบโดยรอบมีความสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 6 เมตร ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบให้ตรวจสอบประสิทธิภาพของเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบ และเปิดเครื่องพ่นละอองน้ำในช่วงเวลาทำงาน ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 9 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 9 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 เน้นย้ำสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ในการนี้มี นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)