
(12 เม.ย 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นำทีมสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมและติดตามสถานการณ์ความปลอดภัย เตรียมความพร้อมการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2568 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และถนนข้าวสาร เขตพระนคร
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการควบคุมและติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายในศูนย์ฯ ได้ติดตั้งระบบควบคุมสั่งการแบบเรียลไทม์ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลจากกล้อง CCTV ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะจุดจัดงานขนาดใหญ่ เช่น ถนนข้าวสาร สีลม ลานคนเมือง และพื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานทำงานร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ความเคลื่อนไหว และสามารถสั่งการตอบโต้เหตุการณ์ได้ทันที
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังมีการแสดงผล Dashboard สถิติ รายงานจุดเสี่ยงและการเฝ้าระวังในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในการดูแลความปลอดภัยของประชาชน ระบบ Dashboard ถือเป็นเครื่องมือหลักที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถมอนิเตอร์และประเมินสถานการณ์แบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระบบจะนำข้อมูลที่ได้จากกล้อง CCTV เซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหว และอุปกรณ์ตรวจวัดความหนาแน่นของฝูงชน มาประมวลผล ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือเกิดเหตุการณ์ผิดปกติได้ทันที
สำหรับงานเทศกาลงานสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ผนึกกำลังความร่วมมือทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน จัดตั้งกองอำนวยการร่วมกลาง โดยสำนักงานเขต 50 เขต ได้ประสานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว และสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อกำหนดมาตรการและบูรณาการกับทุกภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือสาธารณภัย ตลอดจนการดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยออกแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดเฝ้าระวังอันตราย 43 จุด จัดกำลังเจ้าหน้าที่สนับสนุนเจ้าพนักงานจราจร ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุประสานงานและทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บที่เข้ารักษาในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล จัดตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของ กทม. ตลอด 24 ชม. ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว กองโรงงานช่างกล เตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนกรณีเหตุฉุกเฉิน จัดชุดเจ้าหน้าที่ตรวจดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ จัดทำข่าวประชาสัมพันธ์การจัดงาน หรือกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดเป็นระบบการทำงานแบบเรียลไทม์ เชื่อมโยงข้อมูลและการสื่อสารผ่านศูนย์บัญชาการหลัก ที่สามารถติดต่อหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ ได้โดยทันที เมื่อเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
จากนั้น ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร และ พ.ต.อ.นิพนธ์ นิธิการุณย์เลิศ ผกก.สน.ชนะสงคราม นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมที่ถนนข้าวสาร เขตพระนคร บริเวณจุดเล่นน้ำขนาดใหญ่อีกหนึ่งจุดในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นจุดไฮไลท์สายสนุกของเทศกาลปีนี้ กับงาน Khao San World Water Festival 2025 จัดโดยสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร ระหว่างวันที่ 12 – 15 เมษายน 2568 เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เล่นน้ำอย่างปลอดภัย
โดย พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปีนี้ได้มีการนำร่องใช้เทคโนโลยี AI กับกล้อง CCTV สร้างระบบช่วยดูแลความปลอดภัย พร้อมการจัดวางกล้อง CCTV อย่างรัดกุมรอบพื้นที่งาน ซึ่งเทคโนโลยี AI จะช่วยเรื่อง ระบบอ่านและบันทึกป้ายทะเบียน จดจำใบหน้า วิเคราะห์ความหนาแน่นของฝูงชนบนถนนข้าวสาร จำนวน 4 กล้อง ระบบนับจำนวนคน ใช้ร่วมกันกับระบบจดจำใบหน้าที่จุดคัดกรอง ระบบค้นหาลักษณะของบุคคลหรือสิ่งของ และจัดหากล้องติดตามตัว ซึ่งระบบ AI นี้ จะตรวจจับใบหน้าเพื่อป้องปรามอาชญากร มีการจัดการพื้นที่เข้า–ออกงาน และตรวจสอบความหนาแน่นของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีการจัดเจ้าหน้าที่และหน่วยซ่อมบำรุงตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินได้ทันที
ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวว่า จากปีที่ผ่านมาพบปัญหาหลายจุด เช่น ความหนาแน่นของประชาชนบริเวณแยกคอกวัว ปีนี้จึงได้ถอดบทเรียนและร่วมหารือกับ สน.ชนะสงคราม โดยปีนี้กำหนดทางเข้าใหญ่ ๆ 3 จุด ได้แก่ 1. ถนนจักรพงษ์ ราชดำเนิน (หน้า สน.ชนะสงคราม) มีจุดคัดกรอง 4 จุด 2. แยกบางลำพู 3. ถนนบวร (วัดบวรนิเวศวิหาร) และทางออกมีทั้งหมด 4 จุด โดยทั้ง 3 จุดคือ ถนนจักรพงษ์ แยกบางลำพู ถนนบวร มีทางเบี่ยงให้ออก และแยกคอกวัวเป็นทางออกใหญ่ และมีการจัดเส้นทางการเดินแบบ one way 3 เส้นทาง คือ 1. ถนนข้าวสาร จากสน.ชนะสงคราม ไปถนนตะนาว 2. ถนนรามบุตรี จากจักรพงษ์ไปบางลำพู และ 3. ถนนตะนาว จากแยกคอกวัว ไปแยกบางลำพู ในส่วนถนนเส้นอื่น ๆ เช่น ถนนไกรสีห์ ถนนตานี ยังเป็นเส้นทางการเดินแบบ Two way คือเดินสวนกันได้เหมือนเดิม ด้านความปลอดภัย มีจุดคัดกรองทั้งหมด 11 จุด เป็นกล้อง AI ทั้ง 11 จุด มีกล้องบริเวณโดยรอบเกือบ 200 ตัว มีเสาปลอดภัย 8 ตัว ติดป้ายทางออกฉุกเฉินและมีเสียงตามสายเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์
ด้าน ผกก.สน.ชนะสงคราม กล่าวด้วยว่า ด้านความปลอดภัยได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ โดยใช้ควบคุมฝูงชนมาร่วมปฏิบัติงานวันละ 2 กองร้อยหรือเกือบ 500 นาย ร่วมกับฝ่ายจราจร ฝ่ายสืบสวน รวมแล้วมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยเกือบ 700 นาย มีการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นโซน นอกจากการใช้กล้อง AI แล้วยังมีโดรนบินตรวจดูสถานการณ์ภาพรวม ทุก 1 ชม. ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 เม.ย. 68
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังวางมาตรการด้านความปลอดภัยให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถร่วมสืบสานประเพณีปีใหม่ไทยได้อย่างสนุกสนานและปลอดภัยภายใต้นโยบาย “สงกรานต์สร้างสรรค์เล่นน้ำอย่างปลอดภัย ภายใต้มาตรการ 5 ป.” ประกอบด้วย 1. ปลอดปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่ 2. ปลอดแอลกอฮอล์ 3. ปลอดโป๊ 4. ปลอดแป้ง และ 5. ประหยัดน้ำ โดยมาตรการ 5 ป. นี้จะถูกบังคับใช้อย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่จัดงานทั่วกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร สถานีตำรวจในพื้นที่ และหน่วยงานสนับสนุนร่วมตรวจสอบตลอดระยะเวลาการจัดกิจกรรม เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อย ปลอดภัย และยังคงไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง
—————–