
(30 มี.ค. 68) พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงทพมหานคร ในฐานะ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรณีศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้มีการเลือกสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตหนองจอก ใหม่ แทนนายณรงค์ รัสมี ตามที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่า กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า ในวันที่ 13 พฤษภาคม 65 นายณรงค์รู้เห็นเป็นใจให้นายประภาส วัฒนผ่องใส นำน้ำดื่มชนิดบรรจุขวดพลาสติกระบุข้อความว่า “ส.ส. ศิริพงษ์ รัสมี ณรงค์ รัสมี และเพื่อน” ไปมอบให้แก่วัดหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ในงานยกช่อฟ้าอุโบสถ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65 (2) ซึ่งทำให้นายณรงค์ได้ประโยชน์ในการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงกำหนดเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก แทนตำแหน่งที่ว่าง ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม 2568 – 4 เมษายน 2568 ณ ห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ในการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ฯ นั้น จะเปิดลงทะเบียนเวลา เพื่อแสดงความประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง ณ โต๊ะลงทะเบียน หน้าห้องอมรพิมาน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยผู้สมัครรับเลือกตั้ง ฯ เมื่อลงทะเบียนเวลาแล้ว ให้นั่งรอในบริเวณที่นั่งที่จัดไว้ภายในห้องอมรพิมานจนกว่าจะถึงเวลารับสมัครคือ 08.30 น. เมื่อถึงเวลา 08.30 น. ให้เจ้าหน้าที่รับลงทะเบียนเวลาขีดเส้นใต้ทะเบียนลงเวลา
เมื่อถึงเวลา 08.30 น. ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร จะกล่าวเปิดการรับสมัคร และเชิญผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง ฯ ที่ได้ลงทะเบียนเวลาไว้ก่อนเวลา 08.30 น. ประชุมกันเพื่อทำความตกลงกันว่าผู้ใดจะลงสมัครก่อนหลัง ถ้าตกลงกันไม่ได้จะใช้วิธีการจับสลาก 2 ครั้ง จับสลากครั้งที่ 1 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รับสมัคร (ทำการแทน ผอ.กต.ทถ.กทม.) ดำเนินการเขียนชื่อผู้สมัครที่ลงทะเบียนเวลาไว้ก่อนเวลา 08.30 น. ลงในภาชนะที่จะจับสลาก และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเป็นผู้จับสลาก เพื่อให้ทราบว่าผู้สมัครผู้ใดจะเป็นผู้มีสิทธิจับสลากครั้งที่ 2 เป็นลำดับก่อนหลัง โดยการจับสลากครั้งที่ 2 ให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเขียนหมายเลขเท่าจำนวนผู้สมัคร ใส่ลงในภาชนะที่จะจับสลากเท่าจำนวนผู้สมัครที่ลงทะเบียนไว้ แล้วเชิญผู้สมัครตามลำดับที่จับสลากได้ในครั้งที่ 1 ขึ้นมาจับสลาก ผลการจับสลากครั้งที่ 2 คือลำดับที่ในการยื่นใบสมัคร ซึ่งเมื่อทราบผลการจับสลากจัดลำดับการยื่นใบสมัครแล้วให้ดำเนินการรับสมัครตามลำดับที่จับสลากได้
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครเบื้องต้น มีดังนี้ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (ดูจากทะเบียนบ้าน/สูติบัตร) มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง คือผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม 2543 (ดูจากทะเบียนบ้าน/บัตรประชาชน) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตกรุงเทพฯ ในวันสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัคร
ให้ดูหลักฐานการเสียภาษีดังกล่าวของผู้สมัครในปี 2565, 2566 และ 2567 หรือหนังสือยืนยันการไม่เสียภาษีพร้อมทั้งสาเหตุแห่งการไม่ได้เสียภาษีของผู้สมัคร
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้งในเบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบได้ เช่น 1. เป็นบุคคลวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือติดยาเสพติดให้โทษ หรือไม่ 2. อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ 3. เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิเนื่องจากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 4. ตรวจดูลักษณะต้องห้ามอื่น ๆ เท่าที่สามารถตรวจได้ในเบื้องต้น นอกจากนี้จะมีการตรวจสอบข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
—————-
————-