วันนี้ (21 มี.ค. 68) เวลา 09.00 น. นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายความรู้เกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมูลฝอยอัตราใหม่และวิธีการลงทะเบียนในโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” ผ่านแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะอัตราใหม่ ตามร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฏหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. …. แก่นิติบุคคลอาคารชุดในพื้นที่เขตวัฒนา ที่เข้าร่วมรับฟังการประชาสัมพันธ์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจัดการขยะ ณ ห้องประชุม โรงเรียนวัดธาตุทอง เขตวัฒนา
.
ที่ปรึกษา ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า “ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณในการจัดการขยะเป็นจำนวนมหาศาล โดยใน 1 วัน มีปริมาณขยะประมาณ 1 ตัน ใช้งบประมาณในการกำจัดเป็นเงิน 2,300 บาท รวมแล้ว 1 ปี กทม. ใช้งบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับปรุงค่าขยะที่ไม่ได้ปรับมากว่า 20 ปี จึงไม่ใช่เหตุผลหลักในการแก้ปัญหาการจัดการขยะ แต่ กทม. ต้องการใช้กลไกการคัดแยกขยะ 4 ประเภท เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ และสามารถลดงบประมาณในการจัดการขยะลงได้ จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนสำคัญในโครงการ บ้านนี้ไม่เทรวม : แยกขยะลดค่าธรรมเนียม เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ และขยะลดลงได้ต่อไป“
.
รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสาระสำคัญของข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมขยะฉบับใหม่ว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมฯ (ฉบับใหม่) แบ่งการจัดเก็บเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
.
กลุ่มที่ 1 บ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม หากไม่คัดแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียมรวม 60 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 30 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 30 บาท) หากคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนด จะจ่ายค่าธรรมเนียมเท่าเดิมที่เคยจ่าย คือ เดือนละ 20 บาท (ค่าเก็บและขนเดือนละ 10 บาท ค่ากำจัดเดือนละ 10 บาท)
.
กลุ่มที่ 2 ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน จ่ายค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 20 ลิตร (ค่าเก็บและขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร)
.
กลุ่มที่ 3 ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป หรือเกิน 1,000 ลิตร หรือเกิน 200 กิโลกรัมต่อวัน) จ่ายค่าธรรมเนียม 8,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (ค่าเก็บและขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร)
.
ซึ่งกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 เมื่อมีการคัดแยกและนำขยะไปใช้ประโยชน์ จะส่งผลให้ปริมาณขยะที่ทิ้งให้กรุงเทพมหานครนำไปกำจัดลดลง ทำให้อัตราค่าธรรมเนียมฯ ที่ต้องจ่ายก็จะลดลงตามไปด้วย
.
จากนั้นผู้แทนสำนักสิ่งแวดล้อมได้กล่าวต่อถึงการเข้าร่วมโครงการ “บ้านนี้ไม่เทรวม: แยกขยะลดค่าธรรมเนียม” โดยการลงทะเบียนจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
.
การลงทะเบียนแบบเดี่ยว สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไปที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม ผู้ที่ลงทะเบียนในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย บ้านพักอาศัย บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม/แฟลต ที่ไม่มีนิติบุคคล โดยเจ้าของบ้านหรือผู้เช่าที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ลงทะเบียนด้วยตนเองทางแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ BKK WASTE PAY กรณีไม่มีสมาร์ทโฟนสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือลงทะเบียนที่สำนักงานเขตที่บ้านเรือนตั้งอยู่ เริ่มลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และระบบจะแจ้งเตือนให้ส่งภาพหลักฐานการคัดแยกขยะตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน สิ่งที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน ประกอบด้วย รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ชื่อ-สุกล เบอร์โทรศัพท์ และภาพถ่ายขยะที่คัดแยก (ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป) สำหรับ 1 ปีแรก บ้านเรือนที่ลงทะเบียนจะได้รับถุงใส่ขยะเศษอาหาร ทั้งนี้ ระบบจะมีการสุ่มตรวจการคัดแยกขยะทุก ๆ 3 เดือน
.
การลงทะเบียนแบบกลุ่ม สำหรับหมู่บ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัย ที่มีนิติบุคคล และชุมชนตามระเบียบ กทม. ที่มีปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตรต่อวันต่อหลังหรือต่อห้อง กลุ่มนี้จะเริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 และเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมอัตราใหม่เมื่อข้อบัญญัติมีผลบังคับใช้ หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 180 วัน โดยสำนักงานเขตพื้นที่จะเชิญนิติบุคคลมาประชุมเพื่อแจ้งรายละเอียดและแนวทางการจัดที่พักรวมมูลฝอยที่คัดแยก 4 ประเภท รวมถึงขั้นตอนและวิธีการลงทะเบียน หลักฐานที่ต้องแนบ เช่น รายงานการประชุมลูกบ้านที่มีมติ รหัสประจำบ้าน (House ID) 11 หลัก ของบ้านทุกหลัง และหลักฐานการใช้ประโยชน์ขยะ
.
สำหรับแอปพลิเคชัน BKK WASTE PAY
สามารถดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้
IOS : https://apps.apple.com/th/app/bkk-waste-pay/id1574454798
.
Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.wingplus.bkkpersonalapp&pcampaignid=web_share
.
โดยในวันนี้มี คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการคลัง สำนักงานเขตวัฒนา ผู้แทนนิติบุคคลอาคารชุดในพื้นที่เขตวัฒนา ร่วมรับฟังการบรรยาย