รองผู้ว่าฯ ทวิดา ตอกย้ำนวัตกรรมสาธารณสุข กทม. ‘มอเตอร์แลนซ์’ ส่งทีมฉุกเฉินช่วยคนกรุง ถึงที่เกิดเหตุใน 8 นาที

(20 มี.ค. 68) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาหัวข้อ B3-101 Innovation for Healthcare System ในการประชุม HA National Forum ครั้งที่ 25 ณ ห้อง Sapphire 101-102 ชั้น 1 โซนสีแดง ศูนย์ประชุม IMPACT FORUIM เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) จัดการประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 25 ขึ้นภายใต้แนวคิด “Building Quality and Safety Culture for the Future Sustainability” ในระหวางวันที่ 18 – 21 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุม IMPACT FORUM เมืองทองธานี จังหวัดนทบุรี

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คำว่า “นวัตกรรม” คงมีคนให้ความหมายไว้มากมาย คือจริง ๆ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นแนวทางใหม่ให้มาแก้ปัญหาแต่แก้ไม่ได้ก็เรียกนวัตกรรมทั้งนั้น การที่บางเรื่องที่เราเคยทำไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสุขภาพ การวินิจฉัย เมื่อไหร่ที่เอานวัตกรรมไปเชื่อมกับเทคโนโลยีจะออก 2 ทาง คือมีแอปพลิเคชันมากมาย ซึ่งทางเลือกใหม่ในการแก้ไขปัญหาที่ยากที่สุดคือการแก้กฎระเบียบ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร จะมีปัญหาเรื่อย ๆ บางทีก็ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำอย่างไรจะให้คนเข้าถึงบริการต่าง ๆ การเชื่อมเทคโนโลยีอย่างเดียวก็จะกลายเป็นทิ้งคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ซึ่ง กทม. ไม่ได้ปฏิเสธคอนเซ็ปต์สมาร์ทซิตี้ แต่ว่าเมืองต้องไม่ฉลาดจนคนอยู่ไม่ได้ อย่างเรื่องการนำ AI มาใช้ คิดว่าสักพักหนึ่งน่าจะมีปัญหา AI จะแทนที่สำหรับคนที่ไม่พัฒนาตัวเองไปไหน เพราะ AI ตั้งคำถามไม่ได้ แต่เราตั้งคำถามได้

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครมีการนำแอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” มาใช้ในการให้บริการประชาชนด้วย และในแอปฯ หมอ กทม. จะมีปุ่มรถฉุกเฉินด้วย ซึ่งเมื่อมีการกดแจ้ง โลเคชันจะขึ้นอัตโนมัติ โอกาสที่จะทำให้เสียเวลาในการเข้าถึงที่เกิดเหตุก็จะน้อยลง โดยกรุงเทพมหานครต้องเข้าถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที ด้วยสภาพการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเรื่องค่อนข้างยาก จึงได้มีการนำ Motorlance มาใช้ โดยนำ Paramedic หรือนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ใส่ในรถมอเตอร์แลนซ์ ซึ่งเวลาเฉลี่ยที่รถมอเตอร์แลนซ์เข้าถึงที่เกิดเหตุจะอยู่ที่ประมาณ 7.41 นาที โดยรถมอเตอร์แลนซ์จะไปยื้อ 8 นาทีแรกให้มี 8 นาทีที่สอง

รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีนั้นช่วยในการทำงานได้แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งคนในบางส่วน ยังมีงานหลายอย่างที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ กทม. จึงมีการจ้างอาสาสมัครเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน โดยเข้าไปอยู่ในชุมชน เพื่อทำข้อมูลให้กรุงเทพมหานคร เช่น ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่ไหน คนพิการอยู่ที่ไหน คนชราอยู่ที่ไหน เด็กแรกเกิดอยู่ที่ไหน เป็นต้น ซึ่งในการทำงานจะประกบคู่กับอาสาสมัครสาธารณสุข เพราะอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นระบบอนาล็อก แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเป็น เขาจะคือไฮบริดระหว่าง Telemedicine กับอนาล็อก ก็จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ บอกไว้ว่าเวลาทำอะไรทำอย่างไรก็ได้ให้ทำน้อยแต่ได้มาก

กทม #บริหารจัดการดี #สุขภาพดี #ปลอดภัยดี

————————- (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200