(14 ต.ค.65) เวลา 09.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตตลิ่งชัน ประกอบด้วย จุดที่ 1 การคัดแยกขยะชุมชนบ้านคู่คลอง และตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน จุดที่ 2 สวน 15 นาที ที่ว่างใต้สะพานกลับรถถนนราชพฤกษ์ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ จุดที่ 3 จุดเสี่ยงอุบัติเหตุ บริเวณจุดกลับรถหน้าตลาดเทพเจริญ 9 ถนนพรานนก-พุทธมณฑล จุดที่ 4 สวน 15 นาที ที่ว่างริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล ตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 (สวนน้ำตลิ่งชันเดิม) จุดที่ 5 ถนนสวย ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วงเกาะกลางถนนช่วงลงสะพาน-แยกไฟแดงถนนสวนผัก
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เคยแจ้งทุกสำนักงานเขตไว้แล้วว่า ช่วงบ่ายในวันราชการ หรือช่วงเช้าในวันหยุด จะชวนผู้อำนวยการเขต หัวหน้าฝ่าย และผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ เพื่อติดตามงานส่วนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ เริ่มจากเรื่องแรกตั้งแต่การคัดแยกขยะ โดยในวันนี้ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชันได้ชวนไปดูการคัดแยกขยะที่ชุมชนบ้านคู่คลอง ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2551 ถือว่าชุมชนดังกล่าวทำแล้วได้ผล สามารถลดจำนวนขยะได้ 100 กว่ากิโลกรัม จากนั้นชุมชนบ้านคู่คลองก็ได้ไปทำการคัดแยกขยะร่วมกับตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน ซึ่งในเขตตลิ่งชันมีการคัดแยกขยะอยู่ 37 แห่ง ได้แก่ ชุมชน โรงเรียน ตลาด อย่างไรก็ตามในพื้นที่เขตตลิ่งชันมีชุมชนรวมทั้งสิ้น 43 ชุมชน โดยได้มอบหมายให้ทางสำนักงานเขตเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับทางชุมชนในเรื่องของการคัดแยกขยะ
เรื่องต่อมาเป็นการเพิ่มพื้นที่สวน 15 นาที ซึ่งเขตฯ จะมีการเพิ่มพื้นที่สวนอีก 2 แห่ง คือ ที่ว่างใต้สะพานกลับรถถนนราชพฤกษ์ ซึ่งจะเป็นสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ด้านล่างจะอยู่ติดกับถนนสวนผัก เป็นพื้นที่ของกรมทางหลวงชนบท ขณะนี้เขตฯ ได้ประสานงานกับกรมทางหลวงชนบท เพื่อขอใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดทำสวน พื้นที่ประมาณ 2.5 ไร่ ซึ่งพื้นที่จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเขตฯ จะดำเนินการปรับปรุงเองโดยไม่ใช้งบประมาณ อีกส่วนจะขอความร่วมมือสำนักสิ่งแวดล้อมในการออกแบบเพื่อดำเนินการปรับปรุงต่อไปในอนาคต ส่วนอีกแห่ง คือ ที่ว่างริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล ตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 หรือสวนน้ำตลิ่งชันเดิม พื้นที่ 19 ไร่ ขณะนี้สำนักการโยธา ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ ขุดปรับร่องน้ำ จัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกายรอบสวน
เรื่องที่ 3 เป็นจุดเสี่ยงในพื้นที่ ทางเขตฯ ได้รายงานว่ามีทั้งหมด 8 แห่ง ปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ความเสี่ยงเรื่องผิวจราจร เรื่องจุดกลับรถที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในเรื่องของการจราจร เขตฯ จะประสานสำนักการจราจรและขนส่ง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป ส่วนเรื่องไฟฟ้าส่องสว่าง ประสานสำนักการโยธา หรือฝ่ายโยธาเขตฯ เข้าไปตรวจสอบ หากพบไฟฟ้าชำรุดเสียหายให้ดำเนินการแก้ไขต่อไป
“การลงพื้นที่ในวันหยุดนี้ ถือว่ามีข้อดีคือการจราจรไม่ติดขัด อีกทั้งทางผู้อำนวยการเขตก็ทำงานทุกวันอยู่แล้ว กรุงเทพมหานครยังมีปัญหาหลายอย่างที่ต้องดูแลประชาชน ทั้งความปลอดภัย ปัญหาอาชญากรรม การพัฒนาเพิ่มพื้นที่สีเขียว สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มีพื้นที่ออกกำลังกาย ให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย เรื่องต่อไปที่จะต้องเตรียมพร้อม คือเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อฝนหมดไปฝุ่นละอองก็จะตามมา โดยได้กำชับให้ทางเขตฯ ลงพื้นที่ตรวจโรงงาน ตรวจควันดำ การก่อสร้างในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวในตอนท้าย
ชุมชนบ้านคู่คลองและตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน บริหารจัดการขยะด้วยหลัก 3Rs
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนบ้านคู่คลอง เป็นชุมชนประเภทชานเมือง เนื้อที่ 0.24 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่บริเวณแขวงคลองชักพระ บ้านเรือน 102 หลังคาเรือน จำนวน 121 ครอบครัว ประชากร 412 คน ชุมชนบ้านคู่คลองดำเนินการตามแนวทางโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ในชุมชน โดยเขตฯ ส่งเสริมให้มีการจัดการขยะจากต้นทาง สร้างจิตสำนึกของคนในชุมชนและขยายผลไปยังกลุ่มผู้ประกอบการในตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน สำหรับแนวคิดการจัดการขยะด้วยหลัก 3Rs เน้นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืน ลดการคัดแยกและใช้ประโยชน์จากขยะตั้งแต่ต้นทาง ขยายผลต่อเนื่องครอบคลุมขยะในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ส่วนกลางของชุมชน รวมถึงพื้นที่ตลาดน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจของชุมชน โดยมีรูปแบบการบริหารจัดการขยะด้วยหลัก 3Rs ภายใต้กิจกรรมต่างๆ ดังนี้ 1.Reduce การลดปริมาณการผลิตขยะจากการบริโภคที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง ได้แก่ ลดการใช้พลาสติกโดยให้ร้านค้าใช้ใบตองหรือถุงกระดาษแทนถุงพลาสติก การรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า 2.Reuse การใช้ซ้ำนำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า ได้แก่ นำโอ่งน้ำดินเผาทาสีวาดภาพ เพื่อนำไปใช้รองรับน้ำใช้ภายในชุมชนหรือตลาดน้ำ 3.Recycle การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืน ได้แก่ ขยะเศษอาหาร นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ ผลไม้รสเปรี้ยว นำไปหัวเชื้อสำหรับทำน้ำยาอเนกประสงค์ ซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม นำไปทำดอกไม้ ขวดพลาสติกใส ซองกาแฟ กล่องนม นำไปทำกระเป๋า ตะกร้าใส่ของ ขวดพลาสติกสี นำไปทำดอกไม้พร้อมแจกัน ขวดพลาสติก นำไปประดิษฐ์เป็นถังรองรับขยะ ขวดน้ำรีไซเคิล ยางรถยนต์ นำไปประดิษฐ์กระถางต้นไม้ สำหรับปลูกต้นไม้หรือตั้งประดับในพื้นที่ สำหรับปริมาณขยะก่อนทำกิจกรรมขยะอินทรีย์ 387.60 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 648.40 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 2,588.20 กิโลกรัม ขยะอันตราย 62 กิโลกรัม ขยะที่ยังไม่มีการคัดแยก 352 กิโลกรัม ปริมาณขยะหลังทำกิจกรรมขยะอินทรีย์ 465.60 กิโลกรัม ขยะทั่วไป 543.80 กิโลกรัม ขยะรีไซเคิล 2,006.30 กิโลกรัม ขยะอันตราย 74.80 กิโลกรัม
เล็งพื้นที่ว่างโซนถนนราชพฤกษ์-สวนผัก และถนนพรานนก-พุทธมณฑล จัดทำสวน 15 นาที
สำรวจพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที เขตฯ ได้สำรวจพบว่ามีพื้นที่เหมาะสม สำหรับการพัฒนาพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ที่ว่างใต้สะพานกลับรถถนนราชพฤกษ์ข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ติดกับถนนสวนผัก อยู่ในการดูแลของกรมทางหลวงชนบท พื้นที่ 2.5 ไร่ เป็นจุดกลับรถถนนสวนผักพื้นที่ 1 ไร่ ปรับเป็นลานอเนกประสงค์และสวนสาธารณะ จัดทำลานกีฬา เพิ่มพื้นที่สีเขียว สวนหย่อมบริเวณโดยรอบ ปรับปรุงติดตั้งระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ส่วนบริเวณริมคลองมหาสวัสดิ์ พื้นที่ 1.5 ไร่ ปรับพื้นที่เป็นสวนสาธารณะแบบเปิดโล่ง เพื่อการพักผ่อน อีกทั้งมีประชาชนใช้สอยเดินผ่านข้ามคลองมหาสวัสดิ์ เขตฯ ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม ออกแบบสวน เพื่อขอจัดสรรงบประมาณต่อไป จุดที่ 2 ที่ว่างริมถนนพรานนก-พุทธมณฑล ตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 (สวนน้ำตลิ่งชันเดิม) พื้นที่ 19 ไร่ ปรับพื้นที่เป็นคูน้ำและทางเดิน-วิ่งรอบ สร้างสวนปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ไม้ใหญ่และไม้พุ่ม และพื้นที่สำหรับพักผ่อน ซึ่งสำนักการโยธา ได้วางแผนผังปรับพื้นที่ทำการขุดและยกคันกว้าง 5 เมตร สำหรับทำลู่เดิน-วิ่ง กว้าง 2.5 เมตร เพื่อเป็นลู่วิ่งออกกำลังกายรอบสวน ปรับพื้นที่บริเวณที่ลุ่มด้านหน้าสวนให้เป็นบ่อน้ำ ปรับเกลี่ยพื้นที่โดยรอบให้เป็นลานพื้นลดหลั่นตามสภาพ ปัจจุบันดำเนินการขุดปรับร่องน้ำและปรับพื้นที่ได้ประมาณ 15% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2565 เขตฯ ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม ออกแบบสวนสาธารณะที่เหมาะสมตามแนวคิดสวน 15 นาที ตามแผนผังที่สำนักการโยธากำหนด
เลือกถนนสวยพุทธมณฑลสาย 1 ฝั่งถนนสวนผักปลูกต้นทองอุไรตลอดแนว
ถนนสวย (ปลูกต้นไม้ 1 ถนน 1เขต) เขตฯ ได้พิจารณาคัดเลือก ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วงเกาะกลางถนนช่วงลงสะพาน-แยกไฟแดงถนนสวนผัก ความยาว 1,045 เมตร ไปกลับรวม 2,090 เมตร โดยปลูกต้นทองอุไร 170 ต้น ระหว่างแนวต้นมะฮอกกานี เพื่อให้ต่อจากแนวเดิมจากฝั่งทางสายใต้ใหม่ ให้เต็มตลอดถนนพุทธมณฑลสาย 1 อย่างไรก็ตามเนื่องจากดินบางส่วนริมตลิ่งมีการกัดเซาะจากน้ำ ทำให้มีพื้นที่ดินปลูกต้นไม้น้อย จึงจำเป็นต้องมีการขุดลอกดินคูคลองมาปรับเติมพื้นที่ และขุดลอกเปิดทางน้ำไหล
เร่งแก้จุดเสี่ยงอุบัติเหตุจราจร พร้อมตรวจเข้มจุดเสี่ยงอาชญากรรม
ตรวจจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ บริเวณจุดกลับรถหน้าตลาดเทพเจริญ 9 ถนนพรานนก-พุทธมณฑล เขตฯ ประสานสำนักการจราจรและขนส่ง ติดตั้งป้ายห้ามรถ 6 ล้อกลับรถ ส่วนถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ช่วงทางลงข้ามคลองบางพรม) เขตฯ ประสานสำนักการโยธา และสำนักการจราจรและขนส่ง ติดตั้งแท่งแบริเออร์ปูน และป้ายเตือน รวมถึงประสานสถานีตำรวจนครบาลในท้องที่ อำนวยความสะดวกด้านการจราจร ส่วนจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.ซอยราชพฤกษ์ 12 2.จุดกลับรถใต้สะพานยกระดับถนนพรานนกพุทธมณฑล – ถนนกาญจนาภิเษก 3.สะพานลอยคนเดินข้ามแยกวัดชัยพฤกษ์ 4.สะพานลอยคนเดินข้ามหน้าวัดมะกอก 5.สะพานลอยคนเดินข้ามสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (สายใต้ใหม่) 6.ซอยชักพระ 19 7.ซอยสวนผัก 29 (หน้าโรงเรียนชุมทางตลิ่งชัน) 8. สะพานลอยคนเดินข้ามหน้าหมู่บ้านภานุ เขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน (สายตรวจตู้เขียว) และออกตรวจตราพื้นที่อย่างน้อย วันละ 2 ครั้ง/จุด
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางชดาวรรณ ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตตลิ่งชัน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตตลิ่งชัน สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม สถานีตำรวจนครบาลบางเสาธง ประชาชนในชุมชนบ้านคู่คลอง ตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)