ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 วันนี้ (25 ม.ค.66) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง : นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท ได้เสนอญัตติด้วยวาจา เรื่องขอให้สภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาความคุ้มค่าของ โครงการต่าง ๆ ในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
“ตามที่กรุงเทพมหานครได้มีหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัด ให้นำโครงการจ้างต่าง ๆ เข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ เป็นนัยยะว่าทุกโครงการที่ผ่านสภากทม.พิจารณา และเห็นชอบให้ออกเป็นข้อบัญญัติงบประมาณแล้ว ต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าการใช้จ่ายงบอีกครั้ง ซึ่งหน้าที่ในส่วนนี้ควรเป็นหน้าที่โดยตรงของสภากทม.มากกว่า จึงขอตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อเข้าไปศึกษาความคุ้มค่าในโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้มากที่สุด ซึ่งจะดูทั้งเรื่องความคุ้มค่าและระยะเวลาการใช้จ่ายด้วย” นายพีรพล กล่าว
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 9 ระบุโครงสร้างกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสภากรุงเทพมหานคร สำหรับขั้นตอนของการพิจารณางบประมาณนั้น เมื่อหน่วยงานจัดทำโครงการก็จะพิจารณาความจำเป็นก็ส่งให้สำนักงบประมาณได้ทราบ และตั้งคณะกรรมการได้เข้ามาดูหากมีความจำเป็น จากนั้นจึงยื่นเสนอต่อสภากทม.เพื่อตั้งคณะกรรมการวิสามัญ โดยจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดูพื้นที่จริง โดยทุกขั้นตอนจะมีการสอบถามเหตุผลความจำเป็น ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภากทม.ในวาระ 2-3 ภายใน 45 วัน เพื่อให้สามารถประกาศใช้ก่อน 1 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งทุกขั้นตอนจะเห็นว่ามีการพิจารณามาอย่างดีแล้ว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายสภากรุงเทพมหานครและฝ่ายบริหารมีความเห็นที่ตรงกัน เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด ฝ่ายบริหารยินดีที่มีคณะกรรมการชุดนี้เพื่อให้การทำงานดียิ่งขึ้น
จากนั้นสภากรุงเทพมหานครได้ลงมติเห็นชอบรับหลักการ และให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาฯ 29 ท่าน และไม่กำหนดระยะเวลาการพิจารณา
————