กางหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ตรวจประเมินแผงค้าหน้า ป.ป.ส. ถนนดินแดง เขตพญาไท และถนนกำแพงเพชร 3 เขตจตุจักร ย้ำจัดระเบียบพื้นที่ให้ดีขึ้นไม่ใช่ยกเลิกทำการค้า ต่างฝ่ายใช้ทางเท้าร่วมกันอย่างปลอดภัย 

 

 

(15 ก.พ. 68) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าสำนักงาน ป.ป.ส. ถนนดินแดง เขตพญาไท และบริเวณถนนกำแพงเพชร 3 เขตจตุจักร 

 

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวว่า ในช่วงเช้าได้ลงพื้นที่ติดตามจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด โดยมีคณะผู้บริหารสำนักเทศกิจและสำนักงานเขตในพื้นที่ร่วมลงพื้นที่ จุดแรกเป็นพื้นที่ทำการค้าหน้า ป.ป.ส. ถนนดินแดง มีผู้ค้า 44 ราย ช่วงเวลาทำการค้าแบ่งเป็น 3 รอบ คือเช้า กลางวัน เย็น ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน เช่น โจ๊ก ข้าวกล่อง ข้าวเหนียวหมูทอด ไก่ทอด ตั้งวางแผงค้าบนทางเท้าแนวนอกอาคาร บางส่วนตั้งแผงค้าอยู่ในแนวอาคาร อย่างไรก็ตามจากการตรวจประเมินของคณะกรรมการสำนักงานเขต และคณะกรรมการสำนักเทศกิจ พบว่าผลการประเมินในบางหัวข้อมีความแตกต่างกัน ซึ่งในจุดนี้ได้ให้เขตพญาไท พิจารณาตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 2567 ให้รอบคอบและถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นช่องทางจราจร ความกว้างของทางเท้า ระยะห่างจากสะพานลอย ระยะห่างจากป้ายรถเมล์ การล้างทำความสะอาดพื้นในจุดที่ผู้ค้าตั้งวางสินค้า จุดต่อมาพื้นที่ทำการค้าบริเวณถนนกำแพงเพชร 3 ผู้ค้า 72 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. ส่วนใหญ่จำหน่ายอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว มีการประกอบอาหารบนทางเท้า มีการตั้งวางโต๊ะเก้าอี้บนทางเท้า ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่มีการตั้งร้านค้ามานาน โดยเฉพาะในวันหยุดเสาร์อาทิตย์จะมีการตั้งวางแผงค้าทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งนี้ได้ให้เขตจตุจักร พิจารณาจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าปี 2567 ตรวจสอบความกว้างของทางเท้า ขนาดของร้านค้าแต่ละราย การติดตั้งผ้าใบกันแดดกันฝน การตั้งวางโต๊ะเก้าอี้ ความสะอาดในจุดที่มีการประกอบอาหาร 

 

“การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านั้น เจ้าหน้าที่เทศกิจที่ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่แต่ละจุด จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยพิจารณาตามร่างประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ปี 2567 ซึ่งขณะนี้แต่ละพื้นที่เขตจะอยู่ในขั้นตอนการตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้าหาบเร่-แผงลอย ตามหลักเกณฑ์ทำการค้า ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 จากคณะกรรมการตรวจประเมิน จำนวน 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการสำนักงานเขต คณะกรรมการสำนักเทศกิจ คณะกรรมการผู้ตรวจราชการ จากนั้นจะนำผลการตรวจประเมิน เข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ระดับเขต และคณะกรรมการฯ ระดับกทม. เพื่อพิจารณาให้เป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันหรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 ซึ่งคณะกรรมการฯ จะแจ้งให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่หรือผู้ค้ารายใด ไม่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ทำการค้า ปี 2567 เพื่อผู้ค้าได้หาพื้นที่ทำการค้าแห่งใหม่ หากพื้นที่ทำการค้าใดผ่านเกณฑ์ จะยกระดับเป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน โดยขั้นตอนสุดท้ายการกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันหรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าว 

 

“ที่สำคัญการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ไม่ใช่การยกเลิกไม่ให้ทำการค้า แต่จะเป็นการพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันผู้ค้าในแต่ละจุด ซึ่งทำการค้ามานานแล้ว ควรมีการปรับปรุงแผงค้า ตลอดจนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าที่กำหนด เพื่อให้ประชาชนใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้สะดวก สุดท้ายแล้วผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้อย่างปลอดภัย” รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ย้ำในตอนท้าย 

 

สำหรับเขตพญาไท มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 165 ราย ได้แก่ 1.ถนนประดิพัทธ์ ฝั่งขาออก ผู้ค้า 67 ราย 2.ถนนประดิพัทธ์ ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 21 ราย 3.ซอยพหลโยธิน 7 ฝั่งซ้าย ผู้ค้า 77 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 119 ราย ได้แก่ 1.ถนนสาลีรัฐวิภาค ผู้ค้า 54 ราย 2.ซอยพหลโยธิน 9 ผู้ค้า 17 ราย 3.หน้าโรงแรม Grand Tower Inn ผู้ค้า 4 ราย 4.ถนนดินแดง แนวในอาคาร หน้า ป.ป.ส. ผู้ค้า 44 ราย ในส่วนของการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่เขตฯ ทั้ง 7 จุด ได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสิน ปรับปรุงลักษณะของแผงค้าให้เป็นรูปแบบเดียวกัน เปลี่ยนร่มและผ้าใบกันแดดเป็นสีชมพู โดยเขตฯ ได้จัดทำคิวอาร์โค้ดแสดงตัวตนผู้ค้าทุกราย ลดขนาดของแผงค้าให้เล็กลง นอกจากนี้ เขตฯ ได้ประสานความร่วมมือกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) จัดทำ Hawker Center บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ต่อมาได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสินสำนักงานใหญ่ ให้ใช้พื้นที่ด้านหน้าอาคาร 10 จัดทำ Hawker Center รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย และพื้นที่ด้านนอกอาคาร รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 

 

ส่วนเขตจตุจักร มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 137 ราย ได้แก่ 1.ถนนกำแพงเพชร 3 ผู้ค้า 72 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 2.ปากซอยพหลโยธิน 24 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 3.ตลาดปลาสวยงาม ถนนกำแพงเพชร 4 ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ามิกซ์จตุจักร ถึงทางเข้าลานจอดรถห้างเจเจมอลล์ ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 4.หน้าท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 ผู้ค้า 13 ราย ยกเลิกวันที่ 1 เมษายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณหน้าท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ผู้ค้า 12 ราย กำหนดยกเลิกเดือนเมษายน 2568 

 

ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสายชล จังสมยา ผู้อำนวยการเขตพญาไท นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตพญาไท เขตจตุจักร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #ปลอดภัยดี

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200