กทม. รวบรวมหลักฐาน จ่อดำเนินคดีอาญา จับ-ปรับ รถบรรทุก 6 ล้อ ฝ่าฝืนเข้าเขตควบคุมมลพิษ LEZ 

 

.

(14 ก.พ. 68) เวลา 10.00 น. นายศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินคดีอาญากรณีมีผู้ฝ่าฝืนประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เรื่อง ห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ลงวันที่ 21 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุมนพพันธ์ ชั้น 3 สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) 

 

 

สำนักเทศกิจ และ สำนักสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมแนวทางการดำเนินคดีอาญากรณีมีผู้ฝ่าฝืนประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เรื่อง ห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ลงวันที่ 21 มกราคม 2568 เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินคดีอาญาฯ ประกอบด้วย คู่มือปฏิบัติงาน/ขั้นตอนการดำเนินคดี การลงชื่อรับรอง การดำเนินคดี การรวบรวมพยานหลักฐาน การติดตามผล ปัญหาอุปสรรคของระบบ LEZ อุปกรณ์ วัสดุ เครื่องมือ การส่งเรื่องคืนนอกเขตโอนคดี พร้อมข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น การมีมาตรการให้รถของกรุงเทพมหานครอยู่ในบัญชีสีเขียวทั้งหมด การแจ้งประกาศ/คำสั่ง การลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้น

 

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการดำเนินคดีอาญากรณีมีผู้ฝ่าฝืนประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เรื่อง ห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ลงวันที่ 21 มกราคม 2568 อาทิ ผู้อำนวยการจังหวัด (ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) เป็นผู้ถือคำสั่งตามมาตรา 29 ประกอบมาตรา 37 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ดังนั้น ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะมีโทษทางอาญาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจ้ำทั้งปรับตามมาตรา 52

แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน (อายุความ 1 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด)

 

 

การดำเนินคดีอาญาข้อหานี้กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ จึงต้องร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในฐานความผิดฝ่าฝืนค่ำสั่งของผู้อำนวยการจังหวัดต่อพนักงานสอบสวนตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งมอบอำนาจในการร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดฯ ให้แก่ผู้อำนวยการสำนักหรือผู้อำนวยการเขตไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษแก่ผู้กระทำความผิดและหรือผู้อำนวยการสำนักหรือผู้อำนวยการเขตสามารถมอบอำนาจช่วงให้เจ้าหน้าที่อื่นไปดำเนินการดังกล่าวแทนได้ ต่อพนักงานสอบสอบสวน ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ

 

 

สำนักสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดเก็บหลักฐานรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ที่ฝ่าฝืนประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานครฯ โดยกล้อง CCTV บันทึกทะเบียนรถที่ฝ่าฝืน ตรวจสอบทะเบียนรถกับบัญชีสีเขียว และจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนรถที่ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวแยกรายเขต ลงในระบบ LEZ (Low Emission Zone) และส่งให้สำนักงานเขตในพื้นที่เกิดเหตุพิจารณาดำเนินคดีอย่างน้อย คือ ภาพถ่ายรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไปเข้ามาในพื้นที่เขตตามที่ประกาศกองอำนวยการฯ โดยถ่ายให้เห็นหมายเลขทะเบียนให้ชัดเจน ถ่ายบริเวณที่เกิดเหตุที่มีจุดเด่นเพื่อให้พอทราบพิกัดที่สามารถตรวจสอบภายหลังว่าอยู่ในพื้นที่เขตใด รวมทั้งการขอภาพถ่ายหรือวิดีโอจากล้องวงจรปิดจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน (ถ้ามี)

 

ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต ดำเนินการดังนี้ 1. เข้าระบบ LEZ (Low Emission Zone) เพื่อตรวจสอบพยานหลักฐานของรถที่ฝ่าฝืนประกาศฯ 2. ดึงข้อมูลจาก ระบบ LEZ (Low Emission Zone มาพิจารณาและรวบรวมพยานหลักฐาน เช่น ประสานขอข้อมูลทะเบียนรถจากกรมชนส่งทางบก เป็นต้น ตลอดจนพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคดีที่จะสามารถพิสูจน์ว่าได้เข้ามาในพื้นที่ต้องห้ามในช่วงวันเวลาตามประกาศดังกล่าว และรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำผิด เช่น สำเนาประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เรื่อง ห้ามรถตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกฯ สำเนาการแจ้งประกาศ สำเนาเอกสารที่แสดงว่ารถดังกล่าวไม่อยู่ในบัญชีสีเขียว (Green List) หลักฐานข้อมูลทะเบียนรถจากกรมขนส่งทางบก สำเนาข้อมูลทะเบียนราษฎร์ แผนผังแสดงสถานที่เกิดเหตุ เป็นต้น

 

 

เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสามารถดำเนินคดีได้แล้ว ให้จัดทำหนังสือร้องทุกข์ กล่าวโทษ พร้อมแบบหนังสือมอบอำนาจของผู้อำนวยการเขตและดำเนินการไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ ภายใน 15 วันทำการนับจากวันที่ได้รับเรื่อง โดยให้ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขต คิดตามคดีทุกเดือน และรายงานสำนักสิ่งแวดล้อมทราบ ประกอบด้วย แผนผังแสดงสถานที่เกิดเหตุ หนังสือขอทราบข้อมูลทะเบียนรถจากกรมการขนส่งทางบก เพื่อประกอบการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด หนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน หนังสือขอทราบผลคดี

 

 

การประชุมวันนี้นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนกรุงเทพมหานคร นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารสำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่เทศกิจเขตที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

 

#สิ่งแวดล้อมดี 

 

—————————————-

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200