ประเวศคุมเข้มฝุ่นจิ๋วหม้อไอน้ำ (Boiler) คั้นกี่น้ำเต้าทอง เล็งเปิด Hawker Center ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 81-83 ปั้นสวนด้านหน้าอาคารสงเคราะห์ข้าราชการกทม. (แฟลต 72) ชมคัดแยกขยะหมู่บ้านเดอะคอนเนค CN33 และ CN 34 กาง พ.ร.บ. 7 ฉบับ แก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะพัฒนาการ 92

(14 ก.พ. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตประเวศ ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท คั้นกี่น้ำเต้าทอง จำกัด ถนนสุขาภิบาล 2 ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) โดยใช้ขี้เลือยและน้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหม้อไอน้ำตามแผนงานที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 9 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 5 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ท่าจอดรถตู้ รถสองแถว และรถเมล์ 4 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สำรวจพื้นที่ Hawker Center ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 81-83 พื้นที่ 2 ไร่ เป็นที่ดินของเอกชน อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2568 สามารถรองรับผู้ค้าได้ 100 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 155 ราย ดังนี้ 1.ซอยอ่อนนุช 70/1 แยก 2 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. 2.ชุมชนโรงถ่าน ถนนสุขาภิบาล 2 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-21.00 น. รวมผู้ค้า 36 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือ พื้นที่ว่างปากซอยอ่อนนุช 70 ผู้ค้า 53 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 21 ผู้ค้า 26 ราย 2.หน้าโรงเรียนบ้านหนองบอน ผู้ค้า 7 ราย ยกเลิกวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำ Hawker Center เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ รวมถึงดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เตรียมความพร้อมในการตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้าต่อไป

พัฒนาสวน 15 นาที สวนอาคารสงเคราะห์ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ประเวศ (แฟลต 72) ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่า จัดวางแผ่นอิฐทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปูหญ้า ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ร่วมกันปลูกต้นเสลา เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนพัฒนาภิรมย์ พื้นที่ 3 ไร่ 2.สวนสุขภาพประเวศ พื้นที่ 10 ไร่ 3.สวนวงเวียนเจ้าแม่กวนอิม พื้นที่ 2 งาน สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพัฒน์ พื้นที่ 3 ไร่ 2.สวนกาญจนาบารเมษฐ์ พื้นที่ 3 ไร่ 3.สวนคลองปักหลักพัฒนา พื้นที่ 2 ไร่ 4.สวนคลองปักหลัก 2 ริมถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษกฝั่งขาเข้า พื้นที่ 3 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง 5.สวนริมถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษกฝั่งขาออก บริเวณหน้าบริษัทมิตแลนท์ พื้นที่ 1 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง 6.สวนริมถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษกฝั่งขาออก บริเวณหน้าร้านอาหารเลคเฮ้าส์ พื้นที่ 1.5 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง 7.สวนอาคารสงเคราะห์ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ประเวศ (แฟลต 72) พื้นที่ 700 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนบ้านหนังสือแฟลต กทม. ประเวศ พื้นที่ 100 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนข้างสำนักงานเขตประเวศ พื้นที่ 500 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ หมู่บ้านเดอะคอนเนค CN33 พื้นที่ 62.1 ไร่ ประชากร 490 คน บ้านเรือน 393 หลังคาเรือน และหมู่บ้านเดอะคอนเนค CN34 พื้นที่ 80.8 ไร่ ประชากร 480 คน บ้านเรือน 331 หลังคาเรือน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์ ใส่ถุงวางไว้ตามจุดทิ้งขยะแต่ละหลัง โดยระบุเป็นขยะเศษอาหาร เจ้าหน้าที่ของโครงการจะชักลาก มารวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะรวมของหมู่บ้าน โดยมีเกษตรกรมารับนำไปให้อาหารปลา 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล วางไว้ตามจุดทิ้งขยะแต่ละหลัง เจ้าหน้าที่ของโครงการจะชักลาก มารวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะรวมของหมู่บ้าน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปใส่ถุงดำ วางไว้ตามจุดทิ้งขยะแต่ละหลัง เจ้าหน้าที่ของโครงการจะชักลาก มารวบรวมไว้บริเวณจุดพักขยะรวมของหมู่บ้าน (ถังคอนเทนเนอร์ 8 ลบ.) 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย นำมาไว้บริเวณจุดทิ้งขยะอันตรายของหมู่บ้าน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 156,200 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 145,020 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 6,050 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3,940 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1,190 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยพัฒนาการ 92 ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่มีอาคารทิ้งร้าง/ที่ดินรกร้าง จำนวน 7 แห่ง โดยได้ประสานเจ้าของที่ดินดำเนินการแก้ไข จัดทำแนวรั้วล้อมรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันการบุกรุกและลักลอบทิ้งขยะ นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตั้งป้ายประกาศห้ามทิ้งขยะ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่เป็นประจำ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบนำขยะชิ้นใหญ่และเศษวัสดุจากการก่อสร้างมาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดำเนินการตามข้อกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 4.ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 5.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 6.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 7.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในการนี้มี นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตประเวศ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200