กทม. ต้อนรับการเยือนระดับเมือง ผู้ว่าการกรุงโตเกียว หารือแนวทางรับมือความท้าทายร่วมแห่ง 2 มหานคร ภัยพิบัติ สังคมสูงวัย การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และนวัตกรรมเมืองแห่งอนาคต

(6 ก.พ. 68) เวลา 10.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับพร้อมมอบกุญแจเมืองหรือกุญแจสัญลักษณ์ของ กทม. ให้แก่ นางสาวโคอิเกะ ยูริโกะ (Ms. Koike Yuriko) ผู้ว่าการกรุงโตเกียว และคณะรวม 25 คน ในโอกาสเดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งความร่วมมือด้านต่าง ๆ อันมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ทั้งสองเมืองประสบร่วมกัน ประกอบด้วย 1. การตอบสนองต่อภัยพิบัติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. ความท้าทายในการบริหารจัดการเมืองอันเนื่องมาจากสังคมผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดต่ำ 3. นโยบายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ 4. นวัตกรรมสู่การพัฒนาเมืองในอนาคตโดยทั้งสองฝ่ายลงนาม Joint Communique ยืนยันที่จะดำเนินงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในประเด็นต่าง ๆ เช่น ปัญหาอัตราการเกิดลดลง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองให้น่าอยู่สำหรับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่เมืองที่ยั่งยืนในอนาคต รวมทั้งสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกันด้วยความเคารพ และให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เป็นความท้าทายร่วมกันของเมืองทั่วโลกเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยภายหลังการหารือทั้งสองเมืองได้แถลงการณ์ความร่วมมือระหว่างกัน

“การลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงโตเกียวในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและกรุงโตเกียว ที่จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างเมือง และจะนำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาในด้านการแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ การออกแบบนโยบายเพื่อตอบสนองต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การส่งเสริมการท่องที่ยวอย่างยั่งยืน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ หวังว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกรุงโตเกียว และนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน ขอบคุณทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการผลักดันความร่วมมือนี้ และหวังว่าจะได้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากข้อตกลงในครั้งนี้ในอนาคตอันใกล้ และขอให้สายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรุงโตเกียวมีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นสืบต่อไป” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายเมือง การบริหารจัดการภาวะวิกฤตในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็นโครงการพหุภาคีที่ทั้งสองเมืองได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครประสงค์ที่จะดำเนินงานร่วมกับกรุงโตเกียวซึ่งเป็นเลขานุการของเครือข่ายฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการประชุมให้มีความก้าวหน้า และนำมาซึ่งการเสริมสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการภาวะวิกฤตของเมืองในภูมิภาคเอเชียและอื่น ๆ

ด้านผู้ว่าการกรุงโตเกียว ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
และแสดงความประสงค์ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งสองเมือง โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เห็นพ้องกับวิสัยทัศน์ที่ผู้ว่าการกรุงโตเกียวนำเสนอ

ทั้งนี้ ผู้ว่าการกรุงโตเกียวและคณะ เยือนกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 5-7 ก.พ. 68 มีกำหนดการเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และประชุมทวิภาคีระหว่างสองเมืองใน 4 หัวข้อ การลงนาม Joint Communique และรายงานการประชุมถึงประเด็นความร่วมมือของทั้งสองเมือง รวมทั้งการเยี่ยมชมสวนเบญจกิติ สวนสาธารณะกลางกรุงในพื้นที่เขตคลองเตย และการเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพมหานคร ณ สถานีสูบน้ำพระโขนง

ทั้งนี้ “สวนเบญจกิติ” จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยพัฒนาพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบ เนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ต่อมาในปี 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า “เบญจกิติ” พื้นที่ภายในสวนเบญจกิติถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สวนน้ำ และสวนป่า ซึ่งได้มีการสร้างเอกลักษณ์ของสวนป่าให้มีความโดดเด่น โดยกำหนดให้มีพรรณไม้ใหญ่แตกต่างกันไปในแต่ละจุด เพื่อให้มีต้นไม้หลากสีสลับและหมุนเวียนกันในแต่ละฤดู มีทางเดินศึกษาธรรมชาติ เป็นแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้หายาก ทั้งยังสามารถช่วยรองรับน้ำท่วมได้ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางสำหรับจักรยาน เป็นสถานที่ออกกำลังกายขนาดใหญ่ มีอาคารกีฬาในร่ม มีแปลงนาสาธิต สวนสำหรับสุนัข และพิพิธภัณฑ์ โดยสวนเบญจกิติเป็นสวนที่ได้รับรางวัล Landscape of the Year 2023 ในงาน World Architecture Festival 2023

ส่วนสถานีสูบน้ำพระโขนง เป็นสถานีสูบน้ำใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร เปรียบเสมือนหัวใจหลักในการเร่งระบายน้ำออกจากเมืองกรุงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่สูบระบายน้ำและควบคุมระดับน้ำในคลองพระโขนง ซึ่งเชื่อมต่อกับคลองประเวศ คลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าว โดยมีพื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 360 ตร.กม. ในพื้นที่เขตพระโขนง บึงกุ่ม วัฒนา คลองเตย มีนบุรี หนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ห้วยขวาง และลาดพร้าว

สำหรับ นางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว เกิดวันที่ 15 กรกฎาคม 2495 ณ เมืองอาชิยะ จังหวัดเฮียวโงะ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยไคโร (ตุลาคม 2519) ด้านประวัติการทำงาน ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียว 3 สมัย (กรกฎาคม 2567, กรกฎาคม 2563, กรกฎาคม 2559) ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร (ตุลาคม 2554) ดำรงตำแหน่งประธานสภากรรมการบริหารพรรคเสรีประชาธิปไตย (กันยายน 2553) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กรกฎาคม 2550) ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงแห่งชาติ (กันยายน 2549) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีประจำสำนักงานกิจการโอกินาวาและดินแดนทางเหนือ (กันยายน 2547) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (กันยายน 2546)

ในการนี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200