ทวีวัฒนาจับตาค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างโครงการ THE PALAZZO ปิ่นเกล้า-บรมฯ ชมคัดแยกขยะหมู่บ้านกฤษดานคร 31 พลิกที่ว่างสร้างสวนชุมชนหมู่บ้านสกุลทิพย์ ติดตามงบฯ ขอติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะหมู่บ้านพระปิ่น 2

(6 ก.พ. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตทวีวัฒนา ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ THE PALAZZO ปิ่นเกล้า-บรมฯ ดำเนินการโดยบริษัท เดอะแวลู พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ติดตั้งตาข่ายป้องกันฝุ่นละอองตามแนวรั้วด้านบน ตลอดแนวรั้วทางเข้าออกโครงการทั้ง 2 ฝั่ง ล้างทำความสะอาดพื้นทางเข้าออกโครงการไม่ให้มีเศษดินเศษทรายตกค้าง ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนดให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 5 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 1 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 19 แห่ง ประเภทอู่รถยนต์ ขสมก./บริษัทขนส่ง 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ หมู่บ้านกฤษดานคร 31 ถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 30,000 ตารางวา ประชากร 297 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2565 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์ประเภทกิ่งไม้ ใบไม้แห้ง นำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ เศษผักผลไม้รสเปรี้ยว นำไปทำน้ำหมักชีวภาพ เศษอาหารที่เหลือจากการับประทาน นำมาใส่ถังขยะรองรับเศษอาหาร ที่ตั้งวางไว้บริเวณพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน เขตฯ จัดเก็บไปกำจัด 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งถังรองรับขยะรีไซเคิล รวบรวมส่งต่อให้กับผู้รับขยะพลาสติกจากจังหวัดราชบุรี เพื่อนำไปทำเชื้อเพลิง อีกส่วนหนึ่งแยกขายเป็นรายได้เสริมของพนักงานสวนของหมู่บ้าน 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป ใส่ถังรองรับขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บไปกำจัด 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย ใส่ถังรองรับขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 2,050 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2,000 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 40 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 10 กิโลกรัมเดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

พัฒนาสวน 15 นาที สวนชุมชนหมู่บ้านสกุลทิพย์ ซอยบรมราชชนนี 123 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับสภาพพื้นที่ จัดวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่าเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 12 ไร่ 42 ตารางวา 2.สวนคลองบ้านไทร พื้นที่ 18 ไร่ 3.สวนบัวแดง พื้นที่ 12 ไร่ 4.สวนชานบ้าน พื้นที่ 12 ไร่ 5.สวนหย่อมหน้าศูนย์สันกฤตศึกษา พื้นที่ 3 งาน 42 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนร่มเกล้าชาวทาง พื้นที่ 11 ไร่ 2.สวนทวีรักษ์ (ริมถนนอุทยาน) พื้นที่ 5 ไร่ 99 ตารางวา 3.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 31 ไร่ 4.สวนหย่อมวัดอุดมธรรมวิมุตติ พื้นที่ 2 ไร่ 5.สวนชุมชนหลังสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ พื้นที่ 83.76 ตารางวา 6.สวนทวีวัฒน์ ซอยทวีวัฒนา 14 พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 32 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนชุมชนหมู่บ้านสกุลทิพย์ พื้นที่ 1 งาน 39 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนชุมชนหมู่บ้านพระปิ่น 2 พื้นที่ 1 ไร่ 30 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาที เพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ให้ได้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในชุมชนที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงดูแลบำรุงรักษาสวนที่จัดทำเสร็จแล้ว ให้มีความร่มรื่นสวยงามอยู่เสมอ

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณในการขอติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ บริเวณหมู่บ้านพระปิ่น 2 ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนพระปิ่นนคร 2 ชุมชนพระปิ่นบรมฯ 68 และชุมชนเฟื่องฟ้า ตั้งอยู่ในซอยศาลาธรรมสพน์ 15 และ 17 มีประชากรอาศัยอยู่ 450 ครัวเรือน ซึ่งทางชุมชนดังกล่าวมีความประสงค์ให้เขตฯ ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะ ตั้งแต่ปากซอยศาลาธรรมสพน์ 17 ถึงสะพานคลองท่าควาย ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางลัดสามารถเดินทางออกถนนบรมราชชนนีได้ โดยผ่านซอยบรมราชชนนี 68 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานเจ้าของที่ดินในส่วนที่ยังไม่ได้เซ็นชื่อยินยอมยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ เพื่อให้การดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ในการขอจัดสรรงบประมาณ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ยื่นเรื่องขอติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะ ไปยังการไฟฟ้าบางบัวทองเรียบร้อยแล้ว

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือบริเวณหน้าหมู่บ้านกรีนวิลล์ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ผู้ค้า 44 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. ซึ่งในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือบริเวณฝั่งตรงข้ามวัดศาลาแดง ถนนทวีวัฒนา ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-08.00 น. ยกเลิกเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางแผงค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ในการนี้มี นายยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตทวีวัฒนา นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตทวีวัฒนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตทวีวัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200