“สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เป็นสำนักที่มีความสำคัญอีกหน่วยงานของกทม. เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน อัตลักษณ์ชุมชน การสร้างเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งเรื่องสุขภาพ การกีฬาต่าง ๆ และอีกเรื่องที่สำคัญคือการท่องเที่ยว ซึ่งทุกเรื่องล้วนสามารถสร้าง Soft Power ที่มีส่วนสำคัญต่อเมือง” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับสำนัก ลำดับที่ 9 ของกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร โดยมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สวท. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วันนี้ (24 ม.ค. 66)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับศูนย์บริการในสังกัดของ สวท. มีหลายส่วน ประกอบด้วย ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ศูนย์เยาวชน (ศูนย์สร้างสุขทุกวัย) 34 แห่ง ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ 34 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก กทม. 2 แห่ง รถห้องสมุดเคลื่อนที่ 3 คัน ศูนย์กีฬา 12แห่ง ศูนย์ฝึกกีฬาเยาวชน (โรงเรียนกีฬา กทม.) 3 แห่ง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กทม. (บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์) 1 แห่ง ซุ้มบริการการท่องเที่ยว 22 แห่ง จุดบริการนักท่องเที่ยว 1 แห่ง ซึ่งปีที่แล้วมีคนมาใช้บริการรวมกว่า 5 ล้านครั้ง ช่วงโควิด-19 ระบาดประมาณ 3.7 ล้านครั้ง และก่อนโควิด-19 ระบาดมีคนใช้บริการถึง 10 ล้านครั้ง ดังนั้น อนาคตคงต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้เข้มข้นขึ้น
● เฟสแรกเริ่มแล้ว นำร่อง 10 ย่านสร้างสรรค์
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายหลายอย่างที่เริ่มทำไปแล้ว ในช่วงแรกคือการสร้างอัตลักษณ์ของย่านซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะทำให้เกิดเศรษฐกิจชุมชน โดยแต่ละย่านต้องมีอัตลักษณ์ของตนเองที่มีความแตกต่างเพื่อสร้างจุดแข็งของย่าน
ในเฟสแรกคือการนำร่องสร้างย่านสร้างสรรค์ 10 ย่าน ได้แก่ บางลำพู เขตพระนคร นางเลิ้ง เขตป้อมปราบฯ ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง ตลาดพลู เขตธนบุรี ตลาดน้ำตลิ่งชันและตลาดน้ำวัดสองคลอง เขตตลิ่งชัน วัดดุสิตาราม เขตบางกอกน้อย วังเดิม เขตบางกอกใหญ่ ริมคลองบางมด เขตทุ่งครุ ริมคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ และตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์
ส่วนในเฟสที่ 2 ได้แก่ ตลาดเก่ามีนบุรี เขตมีนบุรี วัดพระยาไกร (เจริญกรุง 103) เขตบางคอแหลม
ย่านคลองสาน เขตคลองสาน ริมคลองพระโขนง เขตสวนหลวง ริมคลองประเวศบุรีรมย์ เขตประเวศ คลองลำไทร เขตหนองจอก ย่านสาทร เขตสาทร สามง่ามพัฒนา เขตจอมทอง ย่านเจริญกรุง เขตบางรัก ถนนสายไม้ เขตบางซื่อ โดยแต่ละย่านมีการร่วมพัฒนาจากภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญในย่านนั้น ๆ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของย่าน สร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของย่าน โดยกทม.จะดูแลเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจย่าน รวมไปถึงภาพรวมการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยด้วย
● เดินหน้าต่อเนื่องกับ 12 เทศกาลตลอดปี พร้อมนำงบพัฒนาด้านกีฬาเพื่อประชาชน
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา 12 เทศกาลตลอดปี 2566 ประกอบด้วย ม.ค. เทศกาลดนตรีในสวน ก.พ. เทศกาลงานออกแบบและงานคราฟท์ ซึ่งจะมี 9 ย่าน จาก 12 เขต มาร่วมกิจกรรม มี.ค. เทศกาลการอ่านและการเรียนรู้ เม.ย.เทศกาลไทยไทย พ.ค. เทศกาลอาหาร มิ.ย. เทศกาล Pride Month ก.ค. เทศกาลเด็กและเยาวชน ส.ค. เทศกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก.ย. เทศกาล E-Sport ต.ค. เทศกาลภาพยนตร์ กรุงเทพกลางแปลง พ.ย. เทศกาลศิลปะสร้างสรรค์ และธ.ค. เทศกาลแสงสี ซึ่งแต่ละเทศกาลจะมีการเดินหน้าเต็มที่ รวมถึงการพัฒนาทางด้านกีฬาตามงบประมาณที่ได้จัดสรรมา เช่น การเพิ่มศูนย์สร้างสุขทุกวัย เพิ่มลานกีฬา/ลานกีฬา Extreme เพิ่มศูนย์นวัตกรรมผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มศักยภาพของอุปกรณ์กีฬาเพื่อให้ประชาชนได้มาออกกำลังกาย
● ประสานทุกฝ่าย ดูแลนักท่องเที่ยวรอบด้าน
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว เป็นเรื่องที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องกัน ทั้งหน่วยงานของ กทม. ได้แก่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) สำนักเทศกิจ (สนท.) สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) สำนักการแพทย์ (สนพ.) สำนักอนามัย (สนอ.) สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) สำนักงานประชาสัมพันธ์ (สปส.) สำนักงานการต่างประเทศ (สกต.) สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) กระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้น สวท. ก็จะเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อดูแลและช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ
โดยเรามีซุ้มบริการนักท่องเที่ยว จำนวน 22 จุด กระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว ได้สั่งให้มีการปรับให้อยู่ในสภาพที่ดี พัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว พิจารณานำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ ให้มีคนอยู่ประจำจุด และในอนาคตอาจจะมีการปรับจุดติดตั้งเพื่อให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้ดีขึ้น
ด้านการดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวนั้น เรามีเทศกิจออกตรวจในทุกพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เราเร่งจัดระเบียบพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวเยอะ เช่น สุขุมวิท สีลม โดยเน้นเรื่องแรกคือ ความปลอดภัยในกายภาพ ทางเท้าที่เดินได้ปลอดภัย และดูแลไฟแสงสว่าง ซึ่งก็จะช่วยให้ได้รับความปลอดภัยทั้งคนของเราคือประชาชนกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยว
เรื่องที่สองคือการหาความร่วมมือ เพราะบางเรื่องเราอาจจะไม่มีอำนาจ ก็ได้มีการประสานหน่วยงานอื่น อาทิ ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก จัดการปัญหาที่จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่มีความมั่นใจ อาทิ การจอดขายของบนถนน รถโดยสารสาธารณะ/แท็กซี่/สามล้อโก่งราคาเอาเปรียบนักท่องเที่ยว จุดจอดรถนักท่องเที่ยว โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจัง
“จะเห็นได้ว่า กทม.มีทั้งงานอีเวนต์ ที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน คือทำโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งทั้งงานอีเวนต์และโครงสร้างพื้นฐานนั้น เป็นงานที่ต้องทำการพัฒนาคู่ขนานกันไป โดย สวท. จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการสร้าง Soft Power ให้เข้มแข็งขึ้น รวมถึงสร้างเศรษฐกิจเมืองให้อยู่อย่างยั่งยืนได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● พร้อมร่วมมือเอกชนดันอุตสาหกรรมไมซ์ ให้เกิดการจัดงานในกรุงเทพฯ มากขึ้น
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE: Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) หัวใจจริง ๆ นั้น เอกชนมีบทบาทเยอะ เพราะเป็นเจ้าของศูนย์ประชุม รวมถึงโรงแรมต่าง ๆ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครก็ต้องมีการร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มแข็ง เพราะว่าหน้าที่เราคือการพัฒนาบริบทโดยรอบให้ปลอดภัย มีการเดินทางที่สะดวก มีทางเดินเท้าที่ดี มีพื้นที่สีเขียว มีสวนสาธารณะ ส่วนภาคเอกชนก็จะจัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานที่ประชุม โรงแรม เมื่อเกิดการร่วมมือกันแล้วก็จะทำให้เมืองเราเหมาะกับไมซ์มากขึ้น เป็นเรื่องที่เราต้องหารือกับทางเอกชน ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชนด้วย
หลาย ๆ อย่างที่เราทำอยู่ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเรื่องความปลอดภัย แสงสว่าง ทำพื้นที่สีเขียว ทำสวนสาธารณะ การเดินทาง ถนน หรือแม้กระทั่งการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น ล้วนเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ให้คนอยากจะมาเที่ยวหรือมาประชุมในกรุงเทพฯ มากขึ้น นอกจากนี้ เราได้พยายามจะปรับระเบียบเรื่องขั้นตอนในการก่อสร้าง ในการขออนุญาตต่าง ๆ ให้สะดวกและความโปร่งใสยิ่งขึ้น
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวเสริมว่า กรุงเทพมหานครจะได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม ICCA Congress ซึ่งเป็นเหมือนการประชุมของผู้จัดประชุมทั่วโลก คาดว่าจะทำให้มีผู้คนที่อยู่ในแวดวงการจัดประชุมรู้จักกรุงเทพฯ มากขึ้น และเกิดการจัดงานในกรุงเทพฯ มากขึ้นต่อไป
● เตรียมสร้างโรงเรียนกีฬา กทม. มุ่งผลิตนักกีฬาทีมชาติไทย
ในส่วนของเรื่องโรงเรียนกีฬานั้น รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า ปัจจุบันนักเรียนของเราติดนักกีฬาทีมชาติเยอะ กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงเรียนกีฬา หากเราสามารถทำโรงเรียนที่ส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ทั้งกระบวนการ ไม่ใช่แค่ฝากอยู่กับสำนักการศึกษาเพียงอย่างเดียว ก็จะผลิตนักกีฬาทีมชาติได้มากขึ้น ซึ่งโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีนักกีฬา มีด้วยกัน 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวิชูทิศ สำนักงานเขตดินแดง โรงเรียนนาหลวง สำนักงานเขตทุ่งครุ และโรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ สำนักงานเขตมีนบุรี โดยกทม.ขออนุญาตศึกษาความคุ้มทุนและรายละเอียดต่าง ๆ ให้รอบคอบก่อนชี้แจงอีกครั้ง
● การจัดการหาบเร่-แผงลอยดีขึ้น เน้นความเข้าใจ อยู่ร่วมกันได้
สำหรับช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้กล่าวว่า หาบแร่แผงลอยอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้น มีความเข้าใจกันมากขึ้น ไม่มีความรุนแรง และพยายามดูแลให้อยู่ด้วยกันได้ อย่างสุขุมวิทก็มีหลายคนชมว่าดีขึ้น เหลือซอยย่อยคอนแวนต์ ซึ่งเป็นเขตผ่อนผันมานานเป็น 10 ปี ต้องมีการจัดระเบียบ โดยมีความเป็นห่วงนักเรียน อยากให้เดินทางได้อย่างสะดวก
ในส่วนของใต้ทางด่วนนานาที่กำลังปรับปรุงก็มีขายของทำให้เกิดการขีดขวาง จึงขอความร่วมมือให้เข้าไปขายในซอยดวงพิทักษ์ อาจทำให้ไม่สะดวกในการซื้อของเหมือนแต่ก่อน แต่จะทำให้เดินทางได้สะดวกขึ้น เพราะเรามองว่าถึงแม้การขายของในซอยย่อยจะไม่ถูกกฎหมาย แต่มันเป็นจุดที่ไม่ค่อยมีคนเดินมาก อย่างน้อยก็ยังพอมีที่ให้ผู้คนที่ต้องการค้าขายได้มีที่ทำมาหากินบ้าง เชื่อว่าในอนาคตจะมีการขยับขยายไปอยู่ในที่ที่ถูกกฎหมาย เพราะในชีวิตคนเราคงไม่สามารถอยู่ในที่ที่ผิดกฎหมายไปตลอดชีวิตได้ เราคงต้องช่วยพัฒนากันต่อไป
“สุดท้ายนี้ ต้องขออภัยประชาชนที่ร้องเรียนมาในเรื่องฟุตบาทตรงช่องนนทรี ยอมรับว่าเราทำแย่จริง เราผิดจริง เนื่องจากอยากเร่งการก่อสร้างเกินไปจนไม่ได้เตรียมพื้นที่ให้คนเดิน แต่เมื่อวาน (23 ม.ค. 66) ได้ไปเคลียร์เรียบร้อยแล้ว จึงต้องขอโทษประชาชนมา ณ ที่นี้ด้วย” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย
● ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับฟังปัญหาและส่งมอบกำลังใจแก่ผู้แทน สวท. ผ่านการทานมื้อเที่ยงร่วมกัน
สำหรับเมนูอาหารกลางวันในวันนี้ ประกอบด้วย ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวหมู ผัดหมี่โบราณ ข้าวกะเพราหมู ไข่ดาว ข้าวหมกไก่ 5 สี และติ่มซำ ของหวาน ได้แก่ บุหลันมรกต หยกมณี เครื่องดื่มเย็น ได้แก่ โกโก้ อเมริกาโน่ เอสเปรสโซ่ ชามะนาวเย็น ชาไทย ลาเต้เย็น น้ำลำไย น้ำกระเจี๊ยบ เครื่องดื่มร้อน ได้แก่ อเมริกาโน่ร้อน เอสเพรสโซ่ร้อน โดยมีผู้แทน สวท. จำนวน 7 คน ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1. ว่าที่ร้อยตรี ณัฏฐาวีรกร ตาซื่อ นักนันทนาการปฏิบัติการ ส่วนนันทนาการ สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ 2. นายวรินทร เทศเพ็ญ นักวิชาการเงินและบัญชีปฏิบัติการ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ 3. นายเพียวพันธุ์ เทวงษ์รักษา อาสาสมัครนักดนตรี ตำแหน่งทรอมโบน กลุ่มงานดุริยางค์สากล กองการสังคีต 4. นายสาธิป แก้วมณี พนักงานสถานที่ บ 2 สังกัดฝ่ายบริหารงานทั่วไป กองการกีฬา 5. นางสาวปวีณา สุทักรัมย์ พนักงานสถานที่ บ 2 สังกัดฝ่ายบริหารงานทั่วไป ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) 6. นางสาวธนพร ทองพุก พนักงานสถานที่ บ 2 ส่วนห้องสมุดและการเรียนรู้ สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ และ 7. นางสาวอ้อย ลำภาษี พนักงานทั่วไป ส่วนนันทนาการ สำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้
ทั้งนี้ การรับประทานอาหารร่วมกับบุคลากรของกรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในกิจกรรม “ผู้ว่าฯ สัญจร” เพื่อพบปะพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ รับฟังปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานเพื่อนำไปแก้ไข และให้กำลังใจในการทำงานแก่บุคลากร อีกทั้งเป็นการให้ความสำคัญกับบุคลากรของหน่วยงานอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยเริ่มการรับประทานอาหารร่วมกันครั้งแรกในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร สำนักงานเขตจตุจักร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2565
——————————