(10 ม.ค. 68) เวลา 13.15 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางซื่อ ประกอบด้วย
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ขาออก) เดิมมีผู้ค้า 71 ราย จากการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่ามีผู้ค้า 32 ราย ที่ยังทำการค้าอยู่ในจุดดังกล่าว ส่วนใหญ่จะขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน กาแฟโบราณ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ตรวจสอบจำนวนผู้ค้าที่มีตัวตนและยังทำการค้าอยู่จริง จัดทำบัญชีผู้ค้าให้เป็นยอดผู้ค้าในปัจจุบัน กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 224 ราย ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ซอยโชติวัฒน์ (สะพาน 99) ผู้ค้า 8 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 3.ข้างห้างโลตัสประชาชื่น ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 4.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ขาออก) ผู้ค้า 71 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. 5.ตลาดศรีเขมา ผู้ค้า 47 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. และ 6.ซอยประชานฤมิตร ผู้ค้า 61 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. ในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าบริเวณซอยสะพานขวา ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 10 ราย 2.ซอยโชติวัฒน์ (สะพาน 99) ผู้ค้า 8 ราย 3.ตลาดศรีเขมา ผู้ค้า 47 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 201 ราย ได้แก่ 1.ตลาดประจวบบางซื่อ ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 39 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 00.00-09.00 น. 2.ตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 74 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 10.00-14.00 น. 3.ตลาดมณีพิมาน ถนนประชาชื่น ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 4.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 46 ราย ฝั่งขาออก (บุญเหลือ) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. ฝั่งขาเข้า (ตลาดมณีพิมาน) ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. และ 5.หน้าตลาดบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. และ 15.00-22.00 น.
พัฒนาสวน 15 นาที สวนแยกวงศ์สว่าง บริเวณหัวมุมถนนวงศ์สว่าง ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ว่าง ปลูกต้นทานตะวัน ในอนาคตจะพัฒนาเป็นสวน 15 นาที จัดทำศาลากลางสวน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.ลานปฎิบัติธรรมวัดทองสุทธาราม พื้นที่ 12,800 ตารางเมตร 2.สวนเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 72 พรรษา ถนนรัชดาภิเษก พื้นที่ 2,684 ตารางเมตร 3.สวนหย่อมบริเวณใต้ทางด่วน ซอยประชาชื่น 30 พื้นที่ 628 ตารางเมตร 4.สวนหย่อมประชานุกูล พื้นที่ 3,200 ตารางเมตร 5.สวนป่าวัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) พื้นที่ 8,000 ตารางเมตร สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนประชาชื่น 19 พื้นที่ 500 ตารางเมตร เปิดใช้สวนแล้ว 2.สวนแยกวงศ์สว่าง พื้นที่ 300 ตารางเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงพื้นที่ 3.สวนสโมสรกรมยุทธบริการทหาร ฝั่งถนนกรุงเทพ-นนทบุรี พื้นที่ 700 ตารางเมตร อยู่ระหว่างออกแบบสวน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงอนุรักษ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในพื้นที่ไว้ตามเดิม การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในสวน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนสุขสันต์ 1 ถนนเลียบทางรถไฟ พื้นที่ 3 ไร่ ประชากร 601 คน บ้านเรือน 106 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ อยู่ระหว่างติดตั้งถังรักษ์โลกบริเวณชุมชน โดยคัดแยกเศษอาหารมาทำปุ๋ยอินทรีย์ 2.ขยะรีไซเคิล แต่ละบ้านจะคัดแยกขยะ โดยนำมาขายกับ Waste buy delivery ทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน เริ่มขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี 4.ขยะอันตราย คัดแยกและรวบรวมไว้บริเวณที่ทำการชุมชน เมื่อมีปริมาณมากพอจะประสานเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 1,800 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 510 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 1,289 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 350 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางชุมชนในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ พร้อมทั้งมอบหมาย ให้เขตฯ สำรวจจำนวนบ้านทั้งหมด บันทึกเลขรหัสบ้าน ลงพิกัดบ้านในระบบ เพื่อแบ่งประเภทบ้านที่เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ และไม่เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ
ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการทางจักรยานริมคลองประปา ถนนประชาชื่น ซึ่งเขตฯ ได้ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการปรับปรุงทางเท้าและทางจักรยานริมคลองประปา ด้านที่ติดกับถนนประชาชื่น ตั้งแต่สี่แยกประชาชื่น จนถึงสะพานข้ามคลองประปาทางเข้าโลตัส สาขาประชาชื่น โดยปูพื้นทางเดินกระเบื้องคอนกรีต สีดำสลับสีเทา ความหนา 6 มิลลิเมตร จัดทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย ความกว้าง 1.50 เมตร ปูพื้นยางสังเคราะห์ ความหนา 13 มิลลิเมตร ความยาวตลอดแนวกำแพงเขื่อนคลองประปา จัดทำพื้นทางจักรยาน เทคอนกรีตเสริมเหล็ก ความหนา 10 เซนติเมตร ปูแอสฟัลท์ลงเม็ดสี ความหนา 5 เซนติเมตร จัดทำทางเดินนวดเท้าโรยหินกรวดแม่น้ำ ติดตั้งราวจับโครงเหล็กตัวจับไม้ พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่าง ๆ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาปรับรูปแบบให้มีความเหมาะสม คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่จะมาใช้บริการ หรือใช้เป็นเส้นทางในการสัญจร รวมถึงประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงบ่อพักและร่องระบายน้ำริมถนน เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง
ในการนี้มี นายเจษฎา ประภาสะวัต ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางซื่อ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)