กทม. เตรียมพร้อมด้านการแพทย์-Sandbox ด่านชุมชนจากอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมบริการทางการแพทย์ของ กทม. และการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ภายหลังคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติมีมติขยายเวลาเฝ้าระวังอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่เป็น 10 วันอันตรายตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 67 – 5 ม.ค. 68 ว่า สนพ. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งถนนสายหลักและสายรอง ควบคู่กับการรณรงค์เสริมสร้างวินัยจราจรให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ร้านค้าผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี และผู้ขับขี่ยานพาหนะ

สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์ โรงพยาบาลในสังกัด กทม. ได้จัดบริการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิง สำรองเตียง เลือด ยา และเวชภัณฑ์ เพื่อรองรับกรณีเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดเตรียมรถจักรยานยนต์กู้ชีพฉุกเฉิน (Motorlance) กระจาย 7 กลุ่มโซน ครอบคลุม 50 เขต สามารถเข้าถึงพื้นที่แออัด เข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วพร้อมอุปกรณ์ประเมินอาการเบื้องต้น สามารถประเมินอาการและให้การช่วยเหลือช่วยชีวิตอย่างทันท่วงที พร้อมส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์สั่งการแบบ Real Time ผ่านกล้องติดตามตัวผู้ขับขี่ ซึ่งทีมแพทย์จะทราบข้อมูลผู้ป่วยและให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง ส่วนในสถานการณ์ไม่ฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยอยู่ในภาวะพึ่งพิงไม่มั่นใจว่าเป็นอาการฉุกเฉินหรือไม่ การเดินทางมายังโรงพยาบาลต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก รถ Motorlance จะทำงานร่วมกับศูนย์ UMSC ซึ่งเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อให้การเข้าถึงบริการเป็นไปอย่างรวดเร็ว ลดการเดินทาง และประสานมูลนิธิต่าง ๆ ในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. ร่วมกับหน่วยงานของสำนักงานเขตต่าง ๆ ประจำในจุดบริการประชาชนตามเส้นทางออกจากกรุงเทพฯ โดยหากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนฉุกเฉินทางการแพทย์ โทร.1669 บริการตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนทีมด้านการแพทย์ในสถานที่ที่จัดงานเทศกาลปีใหม่ 2568 และทีมอาสาสมัครกู้ชีพจากมูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล สนับสนุนให้บริการประชาชนตามเส้นทางขาออกจากกรุงเทพฯ และจุดจอดรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของศูนย์เอราวัณ โดยศูนย์เอราวัณรับแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 และสั่งการรถปฏิบัติการฉุกเฉินในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร ออกให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทั้งภาวะปกติและสาธารณภัย หรือประชาชนสามารถใช้บริการผ่าน LINE Official : BangkokEMS สะดวก รวดเร็ว แจ้งพิกัดเกิดเหตุ ช่วยเหลือทันที บริการฟรี 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วง 10 วันอันตราย รายงานผู้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้กำหนดแนวทางการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ของ กทม. ตามมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดอุบัติเหตุจราจร การสนับสนุนความร่วมมือในการตั้งด่านชุมชน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนควบคุมเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภายใต้แนวคิดรณรงค์ #ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการขับเคลื่อนแบบบูรณาการและร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยบูรณาการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้การจัดงาน/กิจกรรมปีใหม่ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่รับและไม่สนับสนุนธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2) มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าผู้ประกอบการและประชาชนปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และผู้ที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ โดยเด็ดขาด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทุกประเภท (โปรโมชั่นลด แลก แจก แถม) ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายกำหนด (11.00-14.00 น. และ 17.00-24.00 น.) เป็นต้น 3) มาตรการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงระดับชุมชน สนับสนุนให้ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ร่วมเฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อป้องกันการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาทและการสูญเสียอื่นๆ และ 4) มาตรการการบังคับใช้กฎหมาย

ทั้งนี้ กทม. ได้ริเริ่มดำเนินการ Sandbox ด่านชุมชน ในพื้นที่เขตหลักสี่และเขตบึงกุ่ม เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจมีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับในพื้นที่ เป็นการเฝ้าระวังไม่ให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน ขับขี่ยานพาหนะออกสู่ถนนสายหลัก ซึ่งอาจเกิดการบาดเจ็บและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น ลักษณะเป็นด่านหวังดีที่ตั้งในชุมชน เน้นมาตรการเชิงบวก การตักเตือน แสดงความห่วงใย การประชาสัมพันธ์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” โดยบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในพื้นที่และภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานเขต สำนักเทศกิจ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักอนามัย สถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายองค์กรงดเหล้า ชุมชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน โดยกำหนดจุดตั้งด่านกระจายคลอบคุลมในพื้นที่ เขตละ 10 จุด ดำเนินการระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 67 – 1 ม.ค. 68

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200