(26 ธ.ค. 67) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) ครั้งที่ 15/2567 โดยมี นพ.สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบออนไลน์
ที่ประชุมรายงานเรื่องผลการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ 17 ตัวชี้วัด ในมิติต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย มิติด้านการป้องกันยาเสพติด เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งในหมู่บ้าน/ชุมชน การจัดระเบียบสังคมในสถานบริการ/สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ/พื้นที่เสี่ยงรอบสถานศึกษา มิติด้านการปราบปรามยาเสพติด มิติด้านการแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด และมิติด้านบริหารจัดการ ทั้งนี้ จากตัวเลขที่รายงานมาพบว่าการดำเนินการในส่วนของกรุงเทพมหานครยังมีความล่าช้า รองผู้ว่าฯ ทวิดา จึงได้กำชับให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครหาแนวทางในการทำให้ผลการดำเนินการก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
รวมทั้งรายงานเรื่องเพื่อทราบ อาทิ เรื่องคำสั่งคณะกรรมการติดตาม เร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 8 คำสั่ง ได้แก่ 1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด 2. จัดตั้งศูนย์อำนวยการและศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับพื้นที่ 3. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองคำขออนุมัติแจ้งข้อหาแก่ผู้กระทำความผิดฐานสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด 4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนขยายผลด้านการเงินคดียาเสพติด 5. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกัน ปราบปรามการพักคอยยาเสพติดในพื้นที่ตอนใน และสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดลงสู่พื้นที่ภาคใต้ 6. แต่งตั้งคณะทำงานประสานงานหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจร่วมไทย – ออสเตรเลีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติด การฟอกเงิน และอาชญากรรมข้ามชาติ 7. แต่งตั้งคณะทำงานสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ณ ท่าอากาศยานสากล (Airport Interdiction Task Force) 8. แต่งตั้งคณะทำงานสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด ณ ท่าเรือสากล (Seaport Interdiction Task Force)
เรื่องการตรวจเยี่ยมพื้นที่กรุงเทพมหานครของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและคณะ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 67 กรณีเด็กเสี่ยงในสถานศึกษา พื้นที่เขตลาดกระบัง ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รศ.ทวิดา กมลเวชช) ให้การต้อนรับ โดยเป็นการตรวจเยี่ยม ณ โรงเรียนวัดปากบึง การเยี่ยมบ้านนักเรียนที่อยู่ในการดูแลช่วยเหลือ และการพบปะประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร และกลุ่มเครือข่าย ณ ชุมชนเคหะร่มเกล้าโซน 1 ซึ่งสามารถสรุปประเด็นการตรวจเยี่ยมได้ดังนี้ 1. วัตถุประสงค์ในการตรวจเยี่ยม เพื่อรับฟังปัญหาของกรุงเทพมหานคร และให้มีการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร หน่วยงานในพื้นที่ และหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมีโครงการต่าง ๆ ที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ 2. ประชาชนในชุมชนสะท้อนปัญหา ได้แก่ ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่แพร่ระบาดในนักเรียน ปัญหากระท่อมที่นำไปต้มน้ำกระท่อมเกิดเสพติดรุนแรง ปัญหากัญชาที่ยังไม่มีมาตรการควบคุม การดูแลกลุ่มเปราะบาง คนไร้บ้าน เด็กกำพร้าที่ยังมีอยู่ในชุมชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ขอให้หน่วยงานร่วมแก้ไขปัญหา โดยพิจารณาการแก้ไขกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ทั้งนี้ ได้มอบหมายสำนักงานเขต ตำรวจ สำนักงาน ปปส.กทม. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร) ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า กัญชา กระท่อม ในเขตลาดกระบังและมีนบุรี 3. กระทรวงยุติธรรมจะปรับบทบาทใหม่ โดยให้มีการทำงานร่วมกับชุมชนและการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม 4. ปัญหายาเสพติด สามารถแก้ได้ด้วยการศึกษา จากข้อมูลนักโทษในเรือนจำ จำนวน 2 แสนกว่าคน พบว่ามีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน คุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรให้การศึกษาแก่ผู้ต้องขัง เพื่อไม่ให้กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ และลดการออกนอกระบบการศึกษาของเด็กเยาวชน (Zero Drop Out) สำหรับผู้กระทำความผิด ขอให้ศาลสั่งคุมประพฤติและติดกำไล EM เพื่อควบคุมพื้นที่ 5. กระทรวงยุติธรรมมีความประสงค์จะถ่ายโอนภารกิจการให้การศึกษาแก่นักโทษในเรือนจำให้กรุงเทพมหานคร จึงขอความร่วมมือกรุงเทพมหานครรับภารกิจการให้การศึกษาแก่นักโทษในเรือนจำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนเรือนจำเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รศ.ทวิดา กมลเวชช) ชี้แจงว่ากรุงเทพมหานครมีการให้ความรู้ผู้ต้องขังในเรือนจำอยู่แล้ว แต่หากจะเป็นการศึกษาภาคบังคับอาจต้องขอพิจารณาประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6. ผู้ที่ติดยาเสพติดแล้ว ให้มีการฟื้นฟูสภาพทางสังคม โดยให้การศึกษา อาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย การดูแลครอบครัว ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมเขต 50 เขตเป็นกลไกการจัดการที่เป็นรูปธรรม และ 7. ผู้มีอาการจิตเวชจากยาเสพติดที่ก่อเหตุมีเพียง 8% จึงควรนำผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังเข้าระบบการดูแล เช่น การมีศูนย์พักคอย เป็นที่ปลอดภัยสำหรับทั้งชุมชนและผู้ป่วย
อีกทั้งได้มีการรายงานผลการดำเนินงานยุทธการเด็ดปีก ผู้ค้ารายย่อย (เด็ดปีกนักค้า รักษาผู้เสพ สร้างชุมชนปลอดภัยยาเสพติด) ผลการดำเนินงานปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นสถานบันเทิงบริเวณถนนข้าวสาร ตลอดจนสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไตรมาสที่ 1/2568 ซึ่งมีคดียาบ้าหลักล้านเม็ดรอบกรุงเทพฯ ระหว่างเดือน ต.ค. – ธ.ค. 67 รวม 9 คดี ในพื้นที่ 5 จังหวัดปริมณฑล ของกลางยาบ้ารวม 123.9 ล้านเม็ด และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ เพื่อให้การติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรุงเทพมหานคร เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่ประชุมจึงเห็นควรเรียนเชิญผู้อำนวยการเขต 50 เขต หรือผู้แทน พร้อมด้วยผู้แทนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หรือผู้แทนจากสถานีตำรวจในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 เป็นต้นไป ผ่านทางระบบออนไลน์
อนึ่ง จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการติดตามเร่งรัดการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด (ศปก.ครส.) ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่รัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติ จึงต้องให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไข ไม่สามารถใช้เพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ จะต้องร่วมมือกัน และวันที่แถลงนโยบายรัฐบาลได้กล่าวว่าเรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องที่สำคัญมากและอยู่ภายใต้การดูแลของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ที่จะดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นซีอีโอ เพื่อจัดการให้เด็ดขาดและต้องทำให้คนที่ติดยาเสพติดหายจากการติดยาและทำให้สังคมปลอดยาเสพติด เพื่อจะได้ไม่ต้องวนกลับมาแบบเดิมอีก ดังนั้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานการทำงานร่วมกัน ภายใต้กลไกศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศอ.ปส.กทม.) และศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเขต (ศป.ปส.ข.)
—————————