(25 ธ.ค. 67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองสาน ประกอบด้วย

ติดตามการจัดทำสวน 15 นาที สวนสาน ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5 ซึ่งเดิมเป็นที่ดินรกร้างและมีการลักลอบทิ้งขยะ สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตคลองสาน จึงมีแผนดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างโกดังโรงเกลือแหลมทอง ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน โดยยินยอมให้กรุงเทพมหานครใช้ทำประโยชน์เป็นระยะเวลา 12 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2676 มีพื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา โดยได้แนวคิดจากการดึงข้อดีของพื้นที่ย่านคลองสาน ซึ่งในอดีตพื้นที่ฝั่งธนบุรีจะมีคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาหลายคลองสานต่อกัน มีเรือสินค้ามาจอดเทียบท่าขนถ่ายสินค้าเข้าโกดังในบริเวณนี้ นับว่าเป็นการเปลี่ยนจากพื้นที่รกร้างเดิม ที่ชุมชนขาดปฏิสัมพันธ์กันให้กลายเป็นพื้นที่สวนสาธารณะสำหรับทุกคน สำหรับแนวความคิดในการออกแบบเป็นการเชื่อมโยงคนในชุมชนให้เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบโจทย์โดนใจคนในพื้นที่ และยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ของย่านเชื่อมต่อประวัติศาสตร์ในอดีตสู่ปัจจุบัน จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ โดยบริษัท ฉมา จำกัด เป็นผู้ออกแบบสวน ภายใต้แนวคิดสวนชุมชนขนาดเล็ก เพื่อใช้จัดกิจกรรมในชุมชน พื้นที่ภายในสวนประกอบด้วย ทางเดินวิ่ง สนามเด็กเล่น พื้นที่ออกกำลังกาย สวนสุขภาพ ลานกีฬา ปูหญ้า ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ติดตั้งประตูรั้ว รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน อาทิ ต้นโพธิ์ ต้นไทร ต้นจามจุรี
ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมสามเหลี่ยมลาดหญ้า พื้นที่ 75 ตารางวา 2.สวนหย่อมหน้าสวนป่าเฉลิมพระเกียรติใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน พื้นที่ 125 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมท่าน้ำวัดทองธรรมชาติ ถนนเชียงใหม่ พื้นที่ 57 ตารางวา 2.สวนหย่อมริมคลองวัดทองนพคุณ พื้นที่ 40 ตารางวา 3.สวนสานฟ้าใส ซอยเจริญนคร 19 พื้นที่ 59 ตารางวา 4.สวนสาน ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5 พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการรับมอบจากสำนักสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่โดยรอบสวนสาน ภายหลังรับมอบพื้นที่สวนจากสำนักสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสำรวจพื้นที่ว่าง อาจจะเป็นพื้นที่วัดหรือโรงเรียน โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บุรินทร์มาเก็ต ถนนเจริญนคร ซึ่งภายในพื้นที่จะเป็นศูนย์อาหาร มีร้านค้าประมาณ 10-18 ร้าน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารจากการประกอบอาหารและนำมาใส่ถังขยะตามจุดที่กำหนด เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังขยะรีไซเคิลตามจุดที่กำหนด คัดแยกขวดพลาสติก กล่องกระดาษ บางส่วนนำไปขายให้ร้านรับซื้อขยะรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป ขยะที่ไม่สามารถคัดแยกได้ จะนำไปทิ้งถังขยะในจุดที่กำหนด เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ตั้งวางถังขยะอันตรายในจุดที่กำหนด เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 2 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการและร้านค้าภายในศูนย์อาหารให้ช่วยกันคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะเศษอาหารที่เหลือทิ้งในแต่ละวัน เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มใช้ประมาณกลางปี 2568
ตรวจการจัดระเบียบผู้ค้าในพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนเจริญรัถทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าทุกจุดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ พ.ศ. 2567 สำรวจแนวร่นของอาคารบริเวณถนนเจริญรัถ กำหนดความกว้างในการตั้งวางแผงค้าของแต่ละร้าน ขีดสีตีเส้นแบ่งขอบเขตให้ชัดเจน ตรวจสอบช่องว่างตรงกลางทางเดิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินสวนกันได้อย่างสะดวก ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน รวมถึงกวดขันร้านค้าที่อยู่ในอาคารไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ตลอดจนเตรียมความพร้อมในการตรวจประเมินตั้งแต่เดือนมกราคม 2568
ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 454 ราย ดังนี้ 1.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงไทย ถึงศาลเจ้าซำไนเก็ง ผู้ค้า 91 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-02.00 น. 3.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-19.00 น. และ 19.00-24.00 น. 4.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาออก ตั้งแต่ท่าดินแดงซอย 1-5 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-24.00 น. 5.ถนนท่าดินแดง ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 200 ถึงปากซอยท่าดินแดง 16 ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 09.00-17.00 น. และ 17.00-24.00 น. 6.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก บริเวณหน้าวัดเศวตฉัตร สะพานเจริญนคร 4 ถึงซอยเจริญนคร 29 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-09.00 น. 7.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาออก ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 53 ถึงทางเข้าอาคารตรีทศ ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. 8.ถนนเจริญรัถ ฝั่งขาออก จากหัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ผู้ค้า 54 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 04.00-08.00 น. และถนนเจริญรัถ ฝั่งขาเข้า จากหัวถนนเจริญรัถตัดถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงหน้าบ้านเลขที่ 228 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 2-4 ผู้ค้า 1 ราย 2.ถนนเจริญนคร ฝั่งขาเข้า บริเวณหน้าวัดสุวรรณ ซอยเจริญนคร 8-12 ผู้ค้า 2 ราย (ยกเลิกวันที่ 15 มีนาคม 2567) ในปี 2568 เขตฯ จะยกเลิกจุดทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาออก ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 45 ราย 2.ถนนลาดหญ้า ฝั่งขาเข้า ตั้งแต่สะพานลอยคนข้ามโค้งวงเวียนใหญ่ ถึงหน้าธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ค้า 30 ราย
ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 10 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 153 ราย ดังนี้ 1.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 16 ราย 2.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกคลองสาน ถึงเจริญนครซอย 15 ผู้ค้า 15 ราย 3.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถตัดถนนเจริญนคร ถึงปากซอยเจริญรัถ 4 ผู้ค้า 13 ราย 4.บริเวณถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 5 ผู้ค้า 25 ราย 5.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3-4 ผู้ค้า 10 ราย 6.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29-53 ผู้ค้า 19 ราย 7.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญนคร 18-46 ผู้ค้า 29 ราย 8.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่อาคารไทยศรี ถึงคลองบางไส้ไก่ ผู้ค้า 8 ราย 9.บริเวณถนนเชียงใหม่ทั้ง 2 ฝั่งตลอดทั้งเส้น ผู้ค้า 14 ราย 10.บริเวณถนนลาดหญ้า (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 4 จุด ได้แก่ 1.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่หัวมุมถนนเจริญรัถ ถึงปากซอยเจริญนคร 14 ผู้ค้า 28 ราย 2.บริเวณถนนกรุงธนบุรี (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยกรุงธนบุรี 1-5 ผู้ค้า 10 ราย 3.บริเวณถนนท่าดินแดง (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่แยกท่าดินแดง ถึงแยกประตูไทยซิกข์ ผู้ค้า 7 ราย 4.บริเวณถนนเจริญรัถ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ปากซอยเจริญรัถ 1-5 ผู้ค้า 3 ราย (ยกเลิกเดือนมีนาคม 2567) ในปี 2568 เขตฯ จะยกเลิกจุดทำการค้าอีก 4 จุด ได้แก่ 1.บริเวณถนนอิสรภาพ (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่แยกซุ้มประตูไทยซิกข์ ถึงแยกบ้านแขก ผู้ค้า 16 ราย 2.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่สะพานเจริญนคร 3-4 ผู้ค้า 10 ราย 3.บริเวณถนนเจริญนคร (ฝั่งเลขคี่) ตั้งแต่ซอยเจริญนคร 29-53 ผู้ค้า 19 ราย 4.บริเวณถนนลาดหญ้า (ฝั่งเลขคู่) ตั้งแต่ปากซอยลาดหญ้า 10 ถึงหน้าสหกรณ์ ผู้ค้า 4 ราย
ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองสาน สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)