นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยว่า การบริหารจัดการมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยกฎหมายการจัดการมูลฝอยที่ครอบคลุมตั้งแต่การคัดแยกจากแหล่งกำเนิด การเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอย รวมถึงข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเก็บ ขน และกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย พ.ศ. 2544 และข้อบังคับกรุงเทพมหานครว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลของอาคารสถานที่และสถานบริการการสาธารณสุข พ.ศ. 2545 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ยังมีเนื้อหาไม่ครอบคลุมการจัดการมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด ประกอบกับได้มีการตราพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 และกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 และกระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจัดการมูลฝอย พ.ศ. 2567
กรุงเทพมหานครจึงจำเป็นต้องให้มีข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดการมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด พ.ศ. …. โดยกำหนดให้ผู้ซึ่งก่อให้เกิดมูลฝอยคัดแยกมูลฝอยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน และมูลฝอยทั่วไป หรือคัดแยกมูลฝอยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ มูลฝอยอินทรีย์ มูลฝอยนำกลับมาใช้ใหม่ มูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน และมูลฝอยทั่วไป ตามประเภทของแหล่งกำเนิดมูลฝอย กำหนดวิธีการและสุขลักษณะในการบรรจุและรวบรวมมูลฝอยของแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ กำหนดวิธีการจัดการมูลฝอยของหมู่บ้านจัดสรร และขยะมูลฝอยจากการก่อสร้างรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงหลักเกณฑ์และสุขลักษณะของการกำจัดมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด ทั้งนี้ หากมีการฝ่าฝืนตามข้อบัญญัติฉบับนี้จะมีความผิดทางพินัย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ขอเชิญประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดการมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด พ.ศ. … ผ่านระบบกลางทางกฎหมายตามลิงค์ https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=NDY5M0RHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= โดยสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2567 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โทร. 0 2203 2935
#สิ่งแวดล้อมดี
—– (ปชส.สสล.รายงาน)