(13 ธ.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบึงกุ่ม ประกอบด้วย
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการแบงค์คอกฮอไรซอน นวมินทร์-ศรีบูรพา ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 34 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษหินดินทรายตกค้าง ตรวจสอบพื้นทางเข้าออกด้านหน้าโครงการไม่ให้มีเศษดินโคลน ล้างล้อรถบรรทุกก่อนออกโครงการ ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ติดตั้งผ้าใบคลุมฝุ่นโดยรอบโครงสร้างอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 บริเวณด้านหน้าทางเข้าออกโครงการให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนีฯ) 2 มีข้าราชการครูและบุคลากร 260 คน นักเรียน 3,664 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะใส่ถังขยะที่กำหนดภายในห้องเรียน ห้องสำนักงาน อาคารเรียน และพื้นที่สนามต่างๆ นักพัฒนาทำการคัดแยกขยะซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และนำไปจัดเก็บในพื้นที่ลานพักขยะที่กำหนดไว้ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิลใส่ถังขยะที่กำหนดภายในห้องเรียน ห้องสำนักงาน อาคารเรียน และพื้นที่สนามต่างๆ นักพัฒนาทำการคัดแยกขยะรีไซเคิลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง และนำไปคัดแยกขยะรีไซเคิล ได้แก่ ขวดน้ำพลาสติก จัดเก็บในพื้นที่ที่กำหนดไว้ และรวบรวมจัดจำหน่ายให้บริษัทเอกชนหรือผู้ค้ารายย่อย ส่วนกระดาษ ขวดแก้ว บรรจุภัณฑ์อาหารต่างๆ จำหน่ายเป็นสวัสดิการของนักพัฒนา 3.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารและขยะจากบรรจุภัณฑ์อาหาร จากนั้นนักพัฒนาจะคัดแยกและตรวจสอบเศษอาหาร เพื่อไม่ให้มีขยะประเภทอื่นรวมอยู่ โดยนำเศษอาหารที่ผ่านการคัดแยก ไปบรรจุเก็บไว้ในถังที่จัดเตรียมไว้ให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ส่วนใบไม้และกิ่งไม้ จะคัดแยกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ 1.การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ โรงเรียนตัดแต่งกิ่งไม้และรวบรวมใบไม้ภายในโรงเรียน นำใบไม้ไปคัดแยกเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อใช้ประโยชน์ภายในโรงเรียน และต่อยอดสู่ชุมชนต่อไป 2.กำจัดตามความเหมาะสม กิ่งไม้และใบไม้ที่เหลือจากการคัดแยก จะนำไปจัดเก็บไว้ในพื้นที่ลานพักขยะของโรงเรียน ประสานเขตฯ มารับไปย่อยสลายหรือจัดเก็บตามความเหมาะสม 4.ขยะอันตราย โรงเรียนจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.ขยะที่เกิดจากการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟฟ้า มิเตอร์ไฟฟ้า ถ่านอัลคาไลน์ 2.ขยะที่เกิดจากให้บริการพยาบาล เช่น เลือด หน้ากากอนามัย ที่ทำความสะอาดบาดแผล นักพัฒนาจะคัดแยกขยะแล้วนำมาแยกไว้ที่ลานพักขยะของโรงเรียน ประสานเขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3,152 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 2,162 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 520 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 450 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงเรียนในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะขยะติดเชื้อควรคัดแยกไว้ในพื้นที่จัดเก็บที่มิดชิด ประสานเขตฯ เข้ามาจัดเก็บเมื่อมีขยะเป็นจำนวนมาก ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณอาคารสำนักงานเขตบึงกุ่ม ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ด้านข้าง ปูหญ้า วางแผ่นหินทางเดิน ปลูกไม้พุ่มเพิ่มเติม แขวนกระถางไม้ประดับริมรั้ว ตั้งวางม้านั่ง รวมถึงอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอย พื้นที่ 6 ไร่ 2.สวนหมู่บ้านเสริมมิตร พื้นที่ 79 ตารางวา 3.อุทยานบึงบัวบึงกุ่ม พื้นที่ 11 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนโรงเรียนวัดนวลจันทร์ พื้นที่ 450 ตารางเมตร 2.สวนหมู่บ้านทวีสุข-นาริสา ด้านหน้าทางเข้าสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก พื้นที่ 216 ตารางเมตร 3.สวนริมคลองลำพังพวย ซอยนวมินทร์ 53 (หน้าร้านนิตยาไก่ย่าง) พื้นที่ 550 ตารางเมตร 4.สวนสำนักงานเขตบึงกุ่ม พื้นที่ 760 ตารางเมตร 5.สวนริมบึงพังพวย พื้นที่ 666 ตารางเมตร 6.สวนโพธิ์แก้ว พื้นที่ 166 ตารางเมตร 7.สวนริมคลองบางเตย (หลังวัดบางเตย) ซอยนวมินทร์ 58 พื้นที่ 190 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่ และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เกิดประสิทธิภาพและเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ร่วมกันปลูกต้นพิกุล และต้นทองอุไร บริเวณสวนน้ำเสรีไทย (บึงลำพังพวย) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตลอดจนเพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว
พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 84 ราย ได้แก่ 1.ซอยนวลจันทร์ 18-64 ถนนนวลจันทร์ ผู้ค้า 34 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.หน้าตลาดอินทรารักษ์ ซอยนวมินทร์ 73-77 ถนนนวมินทร์ ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-23.00 น. 3.ซอยเสรีไทย 9-11 ถนนเสรีไทย ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 15.00-23.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1. ซอยประเสริฐมนูกิจ 33, 36, 42 ถนนประเสริฐมนูกิจ ผู้ค้า 10 ราย ยกเลิกวันที่ 25 สิงหาคม 2567 2.หน้าบริษัทสยามกีฬา ซอยรามอินทรา 40 ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เมษายน 2567
ในการนี้มี นางสาวเบญจพร ศักดิ์เรืองแมน ผู้อำนวยการเขตบึงกุ่ม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบึงกุ่ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)