กทม. ใส่ใจสุขภาพผู้อาศัยคอนโดฯ จัด Hackathon พัฒนาโครงการส่งเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์ ตรงใจ ใช้งบคุ้มค่า

“กรุงเทพมหานครต้องการทำเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพให้แก่คนทุกกลุ่ม อาทิ กลุ่มคนในชุมชน แต่กลุ่มหนึ่งที่เราไม่อาจเพิกเฉยได้ก็คือกลุ่มคนที่อยู่ในอาคารสูง ซึ่งกิจกรรมในวันนี้จะทำให้เราได้ทราบว่ากลุ่มคนที่อยู่ในอาคารสูงต้องการการส่งเสริมสุขภาพแบบใด และที่สำคัญเราอยากส่งเสริมให้กลุ่มคนเหล่านี้มีการตรวจสุขภาพให้มากขึ้น เพื่อให้ทราบสถานะทางสุขภาพ รู้สุขภาวะความเป็นอยู่ของเขา และสามารถทำโครงการได้ตอบโจทย์เขาอย่างแท้จริง ดังนั้น การที่เขาได้มาร่วม Hack กันเพื่อหาคำตอบในเรื่องของสุขภาพเฉพาะกลุ่มเช่นนี้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยในการทำงานของกรุงเทพมหานครได้อย่างมหาศาล” รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการกล่าวให้การต้อนรับผู้ร่วมประชุมและนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร ในเวทีพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมการขับเคลื่อนงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่นิติบุคคล (“Hackathon for Funds” กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร) วันนี้ (13 ธ.ค. 67)

รองผู้ว่าฯ ทวิดา ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีมาตรการด้านสุขภาพ 3 เรื่อง 1. การยกระดับการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้มีบริการที่ครบทุกแผนกมากขึ้น มีมาตรฐานมากขึ้น มีเตียงพักเฝ้าดูอาการ และการให้เปิดให้บริการในเวลาราษฎร ไม่ใช่เวลาราชการ การยกระดับโรงพยาบาลให้มีโรงพยาบาลออนไลน์ที่ประชาชนสามารถปรึกษาเบื้องต้นได้ ผ่าน UMSC การมี Wellness Clinic ที่เปิดให้บริการตรวจสุขภาพแบบ One Stop Service ที่โรงพยาบาลในวันเสาร์ – อาทิตย์ โดยไม่แทรกแซงเวลาตรวจทำการปกติ การมีระบบ Telemedicine มี Health Tech ตลอดจนมีเครือข่ายการทำงาน

  1. การทำงานตรวจสุขภาพ โดยดำเนินโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน และตรวจแบบจริงจัง เจาะลึก เพื่อให้ทราบสถานะสุขภาพประชาชนเฉพาะกลุ่มโดยละเอียด และ 3. การดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพเฉพาะกลุ่ม ซึ่งจากนี้ (หลังจากทราบสถานะทางสุขภาพประชาชนจากโครงการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน ครบ 1 ปี) จะเริ่มดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพเฉพาะกลุ่มให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มคนนั้น ๆ โดยเราจะช่วยเขาในการจัดทำโครงการเสนอ ซึ่งจะเห็นความก้าวหน้าทั้ง 3 เรื่องนี้มากยิ่งขึ้นภายในปี 2568 เชื่อว่าในระยะต่อไป เช่น ปี 2569 – 2570 น่าจะเริ่มเห็นแล้วว่าประชาชนที่ผ่านโครงการส่งเสริมสุขภาพมาแล้วมีสถานะทางสุขภาพที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลน้อยลง หรือเงินและแรงที่ลงทุนไปกับการส่งเสริมสุขภาพจะได้ผลจริง ๆ

สำหรับการจัดเวทีพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมการขับเคลื่อนงานกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่นิติบุคคล (“Hackathon for Funds” กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 14 ธ.ค. 67 ณ ห้อง Botanic โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความร่วมมือและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในระดับพื้นที่เพื่อสามารถเข้าถึงการใช้งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร เพื่อหานวัตกรรมและเครื่องมือที่ทันสมัยในการพัฒนาระบบรองรับและติดตามการทำงานของกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนเพื่อกำหนดเส้นทางการทำงานและความสำเร็จที่สามารถวัดผลประเมินมูลค่าการทำงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 50 คน จากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริษัท xLab Digital บริษัท The Works พร้อมตัวแทนนิติบุคคลนำร่อง 14 โครงการ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ในช่วงของการนำเสนอข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงบริบทพื้นที่และประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ประชากรในกรุงเทพฯ มีการย้ายที่อยู่เร็วมาก โดยมีประชากรที่อยู่ในกรุงเทพฯ ตามทะเบียนบ้าน และประชากรจากภูมิลำเนาอื่น รวมทั้งสิ้นประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งประชากรจำนวนนี้อยู่ในความดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกรุงเทพมหานคร จากนั้นได้กล่าวถึงสัดส่วนประชากรสูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวนสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้งปฐมภูมิ ซึ่งได้แก่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 70 แห่ง และทุติยภูมิ/ตติยภูมิ คือ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 12 แห่ง

ต่อมา กล่าวถึงผลการตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน เฉพาะในส่วนของการตรวจกับกรุงเทพมหานคร มีผู้เข้ารับบริการระหว่าง ต.ค. 66 – 5 ธ.ค. 67 จำนวน 726,786 คน พร้อมแสดงกราฟให้ผู้เข้าประชุมเห็นว่าช่วงวัยใดมีความเสี่ยงด้านสุขภาพในเรื่องใดบ้าง โดยพบว่า อายุ 0 – 5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ 4.96% อายุ 6 – 14 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ 11.82% โรคความดันโลหิตสูง 1.88% โรคเบาหวาน 0.85% อายุ 15 – 34 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ 28.95% โรคความดันโลหิตสูง 17.01% โรคเบาหวาน 14.51% โรคหลอดเลือดหัวใจ 0.07% อายุ 35 – 49 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ 40.55% โรคความดันโลหิตสูง 24.54% โรคเบาหวาน 23.74% โรคหลอดเลือดหัวใจ 0.60% อายุ 50 – 59 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ 41.28% โรคเบาหวาน 32.66% โรคความดันโลหิตสูง 31.02% โรคหลอดเลือดหัวใจ 3.58% และผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นโรคเบาหวาน 35.22% โรคความดันโลหิตสูง 33.57% โรคหลอดเลือดหัวใจ 8.32%

รวมทั้งแสดงตารางความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชากรที่ได้รับการตรวจสุขภาพกับกรุงเทพมหานคร แบ่งตามลักษณะที่อยู่อาศัย ซึ่งพบว่า ผู้เป็นโรคเบาหวานส่วนใหญ่คือประชากรในชุมชนแออัด 34.09% และในแคมป์คนงาน 34.09% ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่คือประชากรในห้องแถว 45.52% ผู้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจสูงส่วนใหญ่คือประชากรในห้องแถว 19.43% และผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ส่วนใหญ่คือประชากรในชุมชนแออัด 42.57% และในแคมป์คนงาน 42.57% ส่วนในด้านพฤติกรรมพบว่า ประชากรที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่มากที่สุดคือในแคมป์คนงาน 14.10% ประชากรที่มีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดคือในหอพักพนักงาน 25.17% ประชากรที่มีความเครียดมากที่สุดคือในหอพักพนักงาน 2.27% และประชากรที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าคือในห้องแถว 16.53% จากนั้น รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวถึงนโยบายและบริการด้วนสุขภาพของกรุงเทพมหานคร อาทิ BKK Wellness Clinic ศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพเวชศาสตร์เขตเมือง (UMSC) คาราวานตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ร่วมกิจกรรม Hackathon ได้นำไปต่อยอดในกิจกรรมต่าง ๆ ในวันนี้และพรุ่งนี้ต่อไป

ในส่วนของกิจกรรมในเวทีพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมฯ วันนี้ (13 ธ.ค. 67) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “สช. กับการขับเคลื่อนชุมชนเขตเมืองเข้มแข็งเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม” โดย นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง “สานพลังสร้างเสริมสุขภาพเมือง : ระบบสุขภาพใกล้ชิดชุมชน สร้างนวัตกรรม และขับเคลื่อนนโยบาย” โดย นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กิจกรรมระดมสมอง เรื่อง “ปัญหาสุขภาพในชุมชน” โดย Xlab Digital การให้ความรู้ เรื่อง “กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร คืออะไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร” และ “Best practice ที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนกองทุนที่ผ่านมา” โดย สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร การแนะนำรายละเอียดและกฎเกณฑ์ Hackathon โดย Xlab Digital แล้วจึงเริ่มกิจกรรม “Hackathon for Funds” กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร โดย Xlab Digital จากนั้นเป็นการนำเสนอแลกเปลี่ยนบทเรียน การเรียนรู้ที่ผ่านมา สรุปและนัดหมายกิจกรรม และในวันที่ 14 ธ.ค. 67 จะมีกิจกรรม “Hackathon for Funds” กองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร (ต่อ) โดย Xlab Digital การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนการดำเนินงานและตัวชี้วัด การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้อเสนอ ความคิดสร้างสรรค์ และการบริหารโครงการ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อการสรุปผลโครงการ การนำเสนอโครงการและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมทานคร ผู้แทนคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร แล้วจึงเข้าสู่การสรุปกิจกรรม
—————————

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200