กทม. ร่วมแสดงพลังเรียกร้อง “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” พร้อม “เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วนจริงจัง” ปกป้องเด็กและเยาวชน

 

 

“สิ่งที่มีค่าที่สุดของ กทม. ไม่ใช่ตึกรามบ้านช่องแต่เป็นเยาวชน เพราะสุดท้ายแล้วจะโตขึ้นมาเป็นทรัพยากร เป็นเจ้าของเมือง ๆ นี้ ถ้าเยาวชนถูกหลอกล่อหลอกลวงด้วยยาเสพติดหรือบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร อนาคตของเมืองจะเป็นอย่างไร ขอยืนยันว่า กทม. ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า และมีการกวดขันจริงจังในกรอบอำนาจของ กทม. นอกเหนือจากการเรียกร้องถึงผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายหรือการออกกฎหมายเพิ่มเติมแล้ว อยากขอเรียกร้องให้ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องในปัจจุบัน อย่าลูบหน้าปะจมูก กฎหมายมีอยู่แล้ว ขอให้ทำอย่างจริงจัง เพราะไปที่ไหนก็ยังพบเห็นการจำหน่ายอยู่ หากทำอย่างจริงจังบุหรี่ไฟฟ้าก็หายไปได้เพราะมีการห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายอยู่แล้ว“

 

(8 ธ.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในโอกาสเป็นผู้แทนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะเจ้าของสถานที่ กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงานการจัดเวทีเสียงประชาชนถึงรัฐบาลและรัฐสภา “รวมพลังคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ณ ลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมีการยื่นรายชื่อคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า 592,727 รายชื่อ พร้อมข้อเรียกร้องจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่อผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป โดย ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน

 

สำหรับวันนี้ ผู้แทนเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ผู้แทน 972 องค์กร มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพสุภาพเพื่อสังคมไทยปลดบุหรี่ ผู้แทน 23 องค์กรวิชาชีพสุภาพ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ เครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบแห่งประเทศไทย เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาปลอดบุหรี่ สภาผู้ปกครองและครูแห่งประเทศไทย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ เครือข่ายเยาวชนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ร่วมจัดเวที ” รวมพลังคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” เพื่อยื่นรายชื่อคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า 592,727 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย หัวหน้าพรรคการเมือง และรัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า”รวมทั้ง “เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วนจริงจัง” เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้

 

ทั้งนี้ แกนนำนักเรียน GenZ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา 2 ได้กล่าวข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ในการปกป้องเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาล คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มการกำกับดูแลรวมถึงป้องกันการแทรกแซงนโยบายของบริษัทบุหรี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2. ขอให้ภาครัฐและผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย จับกุมร้านค้าหรือผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังและควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จของอุตสาหกรรมยาสูบ 3. ขอให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา ครอบครัวและชุมชน เร่งสร้างความรับรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน และ 4. ขอให้ภาครัฐและกระทรวงที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงาน ด้านการวิจัย และการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน รวมถึงนำผลการวิจัยและผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กเยาวชนและประชาชน ไปใช้ในการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า

 

ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจในปี 2565 พบว่าเยาวชนไทยอายุน้อยกว่า 15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึง 17.6% เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีอยู่ 3.3% โดยสัดส่วนที่เพิ่มมากที่สุดคือเด็กหญิง คือเพิ่มขึ้นถึง 7.9 เท่า ส่วนเด็กชายเพิ่มขึ้น 4.3 เท่า ทั้งนี้งานวิจัยทางการแพทย์ล้วนยืนยันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของประชาชนทุกเพศทุกวัยไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า มีผลเสีย ต่อสมองของเด็กและเยาวชนมากขึ้นกว่าบุหรี่แบบเดิม ทำให้เด็กและเยาวชนมีพัฒนาการที่ช้าด้อยคุณภาพลง ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบและแตก โรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด โรค NCD รวมทั้งโรค อุบัติใหม่ ปอดอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน (EVALI) ส่วนด้านจิตใจ มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ภาคครัวเรือนและภาครัฐต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นหลายเท่า และในด้าน สังคม ทำให้เด็กเรียนหนังสือแย่ลง รวมทั้งเป็นประตูนำสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ เกิดปัญหาความรุนแรง อาชญากรรม เป็นต้น

                        ———-

———-

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200