(26 พ.ย. 67) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดสัมมนาแผนแม่บทการขยายระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (Area Traffic Control : ATC) ณ ห้องสยามฮอลล์ ชั้น 6 โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท
รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ระบบ ATC เป็นโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางเทคนิคที่สนับสนุนโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA โดยโครงการนี้เป็นการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ JICA ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่เป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการบริหารจัดการจราจรด้วยเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงสภาพการจราจรในกรุงเทพมหานครให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น หลังจากที่ระบบได้เปิดใช้งานในพื้นที่นำร่องมาเป็นเวลา 1 ปี ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่าระบบสามารถลดปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างมีนัยสำคัญ
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวด้วยว่า กรุงเทพมหานครมีความตั้งใจที่จะขยายระบบให้ครอบคลุมทั่วทั้งเมืองในอนาคต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการจราจร โดยเริ่มจากติดตั้งระบบสัญญาณไฟที่ปรับเปลี่ยนตามปริมาณจราจรและแถวคอยในแต่ละทางแยก และจะขยายผลยกระดับให้เป็นระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ในอนาคตอันใกล้ด้วยการวางแผนและการทำงานร่วมกับทีมผู้เชียวชาญจากญี่ปุ่นโดยการสนับสนุนจาก JICA วันนี้เราได้มาร่วมกันในการสัมมนาแผนแม่บทการขยายระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ (ATC) เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางในการขยายผลโครงการนี้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของกรุงเทพมหานคร การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวางแผนและพัฒนาระบบการบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต
งานสัมมนาแผนแม่บทการขยายระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ หรือระบบ Area Traffic Control : ATC เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการจราจรและขนส่ง กับสำนักงานตำรวจแห่งขาติ โดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA ที่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 เพื่อดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรด้วยการติดตั้งระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจรเป็นพื้นที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ หรือ Bangkok Area Traffic Control Project (BATCP) โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ สภาพการจราจรในพื้นที่ที่มีการติดตั้งระบบ ATC มีความคล่องตัวมากขึ้น และผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการดำเนินโครงการ ได้แก่ 1. การติดตั้งระบบ ATC ในพื้นที่โครงการนำร่อง 2. การจัดตั้งระบบบริหารจัดการและการดูแลรักษาระบบ ATC ในพื้นที่โครงการนำร่อง 3. การจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานสำหรับการควบคุมสัญญาณไฟจราจรทางแยกภายใต้ระบบ ATC และแนวทางปฏิบัติได้ถูกนำไปปรับใช้ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 4. การจัดทำแผนแม่บทสำหรับขยายระบบ ATC ที่ครอบคลุมทั้งกรุงทพฯ
สำหรับโครงการนำร่องที่ได้ดำเนินงานไปนั้น ครอบคลุมพื้นที่บนถนนหลัก 4 สาย ได้แก่ ถนนพระราม 6 ถนนราชวิถี ถนนพหลโยธิน และถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีระบบสัญญาณไฟจราจรที่มีอยู่ในพื้นที่นำร่อง ประกอบด้วย สัญญาณไฟจราจรทางแยก 13 แห่ง และสัญญาณไฟทางข้ามอีก 4 แห่ง โดยมีศูนย์ควบคุมกลางตั้งอยู่ที่สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร โดยระบบ ATC ที่นำมาติดตั้งในพื้นที่โครงการนำร่องนี้จะใช้เซนเซอร์เก็บข้อมูลสภาพจราจรในพื้นที่ผ่านเครื่องตรวจจับยานพาหนะแบบ Ultrasonic และกล้อง CCTV ที่คอยตรวจจับสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ อุปกรณ์ตรวจจับเหล่านี้จะส่งข้อมูลที่รวบรวมได้ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสงไปยังศูนย์ควบคุมการจราจร จากนั้นจะใช้อัลกอริทึมขั้นสูงที่เรียกว่า “MODERATO” วิเคราะห์ข้อมูลการจราจรและคำนวณเวลาสัญญาณไฟที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสัญญาณไฟจราจรในพื้นที่นำร่อง โดยคำนึงถึงปริมาณการจราจรและระดับความติดขัด และปรับเวลาสัญญาณไฟให้เหมาะกับสภาพการจราจรในพื้นที่แบบเรียลไทม์ จากนั้นก็จะถูกส่งกลับไปยังสัญญานไฟจราจรแต่ละแยกเพื่อให้ได้สัญญาณไฟเขียวที่ดีที่สุด
ในวันนี้ นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง พล.ต.ต.ธวัช วงศ์สง่า รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการดำรวจนครบาล นายฮารุกะ โอซาวะ เลขานุการโท ฝ่ายโครงสร้างพื้นฐาน สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย นายคาซูยะ ซูซูกิ หัวหน้าผู้แทน JICA ประจำประเทศไทย ผู้เข้าร่วมสัมมนา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดงาน
——————————— (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)
เดินทางดี #ปลอดภัยดี #กทม