Search
Close this search box.
รผว.จักกพันธุ์ ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฯ ในพื้นที่เขตภาษีเจริญ เน้นจับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้าง

(21 พ.ย. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตภาษีเจริญ ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างคอนโด ออริจิ้น เพลส เพชรเกษม (Origin Place Phetkasem) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 22 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ดังนี้ ติดตั้งรั้วปิดทึบตามแนวพื้นที่ก่อสร้างโดยรอบ เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำตลอดเวลาทำงาน รถบรรทุกที่ออกจากพื้นที่ก่อสร้างต้องผ่านการล้างทำความสะอาดล้อ ตรวจควันดำของรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการปรับปรุงบ่อล้างทำความสะอาดล้อและเปลี่ยนน้ำอย่างสม่ำเสมอป้องกันไม่ให้มีเศษตะกอนตกค้าง ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศพร้อมทั้งจอแสดงผลด้านหน้าโครงการให้เห็นเด่นชัด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท เอชบีซี โพรดักซ์ อินดัสตรีส์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานประกอบการผลิตส่งออกเครื่องสำอางประเภทสารส้มระงับกลิ่นตัว พื้นที่ 1,175 ตารางวา บุคลากร 73 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2559 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกเศษอาหารและเศษผักผลไม้ รวบรวมนำไปเลี้ยงสัตว์ และทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในแปลงเกษตรของบริษัท บางส่วนส่งให้เขตฯ นำไปเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ (BSF) ส่วนน้ำมันพืชใช้แล้วรวบรวมส่งขาย 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกกล่องกระดาษส่งกลับให้ซัพพลายเออร์ หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ คัดแยกส่งขาย Wastebuy Delivery Co,. Ltd. ที่มารับซื้อถึงบริษัท 3.ขยะทั่วไป รวบรวมใส่ถังสีน้ำเงินบริเวณจุดพักขยะ เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย ตั้งถังรองรับขยะอันตรายบริเวณจุดพักขยะ เขตฯ จัดเก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 200 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 140 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 5 กิโลกรัม/สัปดาห์ ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 8 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางบริษัทในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ โดยเฉพาะขยะทั่วไปเพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากสถิติปริมาณขยะทั่วไปบริษัทสามารถคัดแยกได้เป็นจำนวนมาก ส่วนขยะประเภทต่างๆ บริษัทสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง หากเป็นไปได้ให้บริหารจัดการขยะให้เป็นศูนย์ โดยที่เขตฯ ไม่ต้องเข้ามาจัดเก็บ

พัฒนาสวน 15 นาที สวนต้นหูกระจง บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 ติดกับคลองบางจาก ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่เป็นลานเอนกประสงค์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย โดยจัดทำทางเดินรอบสวน ปลูกไม้พุ่มเพิ่มเติม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นมะฮอกกานี เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนแห่งรอยยิ้มและพื้นที่สุขภาวะ ชุมชนเลิศสุขสม บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 พื้นที่ 400 ตารางเมตร 2.สวน 15 นาที บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 จุดกลับรถใต้สะพานข้ามทางแยกถนนบางแวก พื้นที่ 12 ตารางเมตร 3.สวนป่าถนนศาลธนบุรี พื้นที่ 480 ตารางเมตร บริเวณหน้าหมู่บ้านกิจเจริญ ซอยศาลธนบุรี 29 4.สวนวัดกำแพงบางแวก ซอยบางแวก 32 พื้นที่ 560 ตารางเมตร 5.สวนวัดประดู่บางจาก ซอยราชพฤกษ์ 1 พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร 6.สวนต้นหูกระจง พื้นที่ 1,528 ตารางเมตร บริเวณเกาะกลางถนนพุทธมณฑลสาย 1 ติดกับคลองบางจาก 7.สวนวัดปากน้ำภาษีเจริญ (สวนกาญจานภิเษก) พื้นที่ 1,660 ตารางเมตร 8.สวนสุขภาวะแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสยาม พื้นที่ 165 ตารางเมตร โดยในพื้นที่เขตฯ มีสวน 15 นาทีตามโครงการ Pocket Park 72 แห่ง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนแห่งรอยยิ้มและพื้นที่สุขภาวะ ชุมชนเลิศสุขสม 2.สวนวัดประดู่บางจาก ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง

ติดตามการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค เนื่องจากเขตฯ ได้รับการร้องเรียนถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจอดรถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะบริเวณทางเท้าหน้าห้างฯ ดังกล่าว โดยเขตฯ ประชุมสร้างความเข้าใจแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างบริเวณดังกล่าว เพื่อย้ายจุดจอดรถรอรับผู้โดยสารเข้าไปด้านทางออกของห้าง พร้อมทั้งได้ประสานความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค ที่ให้การสนับสนุนพื้นที่บริเวณด้านทางออกของห้าง เพื่อทำจุดจอดรถรอรับผู้โดยสาร โดยมีการสร้างเพิงพักแบบมีหลังคา สำหรับพักอาศัยให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 164 ราย ดังนี้ 1.ซอยเพชรเกษม 48 ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 2.ซอยเพชรเกษม 42 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 3.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 4.ซอยเพชรเกษม 28 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 5.หน้าวัดนาคปรก ซอยเทอดไท 49 ถนนเทอดไท ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-23.00 น. 6.ซอยเพชรเกษม 33 ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 7.หน้าบ้านพักคนชรา ถนนเพชรเกษม ผู้ค้า 49 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 8.ปากซอยวงศ์ดอกไม้ ซอยเพชรเกษม 62 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-23.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว จำนวน 7 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 93 ราย ได้แก่ 1.ซอยเพชรเกษม 20 ผู้ค้า 31 ราย ยกเลิกวันที่ 31 ก.ค. 67 2.ซอยเพชรเกษม 36 ผู้ค้า 32 ราย ยกเลิกวันที่ 31 ก.ค. 67 3.หน้าโรงพยาบาลพญาไท 3 ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 30 พ.ย. 66 4.ซอยเพชรเกษม 39 ผู้ค้า 7 ราย ยกเลิกวันที่ 29 ก.พ. 67 5.ซอยเพชรเกษม 54 ผู้ค้า 9 ราย ยกเลิกวันที่ 30 เม.ย. 67 6.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 4 ราย ยกเลิกวันที่ 30 ก.ย. 67 7.ถนนพุทธมณฑลสาย 1 (ฝั่งขวา) ผู้ค้า 6 ราย ยกเลิกวันที่ 30 ก.ย. 67

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วงที่ 1 บริเวณจุดก่อสร้างหน้าโรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด) ซึ่งสำนักการโยธาได้ดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วงที่ 1 จากถนนเพชรเกษม ถึงถนนพรานนก-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 เริ่มสัญญาวันที่ 1 มิถุนายน 2567 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 24 สิงหาคม 2568 ระยะเวลา 450 วัน โดยปรับปรุงขยายถนน ค.ส.ล. จาก 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร ระยะทาง 5 กิโลเมตร พร้อมทั้งก่อสร้างทางเท้า ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องหมายจราจร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานสำนักการโยธา ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ใช้เส้นทางในระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนี้ให้สำนักการโยธากำชับผู้รับจ้างให้คำนึงถึงความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนในการเดินทางสัญจร ติดตั้งป้ายแจ้งเตือน ป้ายไฟสัญญาณ ป้ายจราจร ตั้งวางแบริเออร์ในจุดที่มีการก่อสร้าง เพิ่มระบบไฟฟ้าส่องสว่างให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล คาดว่าโครงการก่อสร้างปรับปรุงถนนจะแล้วเสร็จตามกำหนดสัญญาประมาณกลางปี 68

ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นางธราพร อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตภาษีเจริญ สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200