Search
Close this search box.
กทม. เร่งแก้ปัญหาการจราจร สร้างวินัย และปรับพฤติกรรมการขับขี่ หวังลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนน

วานนี้ (4 พ.ย. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมพิธีเปิดงานสัมมนา “Safety Road in Southeast Asia: Issues and Prospects” ณ สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ (Alliance Française Bangkok) เขตปทุมวัน ในฐานะที่กรุงเทพมหานครเป็นภาคีเครือข่าย “Friends of the Special Envoy for Road Safety Network” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 พร้อมร่วมให้การต้อนรับนายฌอง ทอดต์ ทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านความปลอดภัยทางถนน

โดยผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงแผนดำเนินการของกรุงเทพมหานครที่มีเป้าหมายลดความเร็วของผู้ขับขี่ในกรุงเทพฯ จาก 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนน แม้สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูง โดยในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน ปี พ.ศ. 2566 มีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนในกรุงเทพฯ 884 ราย ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันในปี พ.ศ. 2567 มีจำนวนลดลงเหลือ 596 ราย โดย 82% ของอุบัติเหตุทางถนนเกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ และ 50% มาจากการขับรถเร็วเกินกำหนด นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) เพิ่มจำนวนและยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด (CCTV) โดยในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว สามารถบันทึกการละเมิดกฎจราจรได้ถึง 43,000 ครั้ง โดยระบุจุดที่เสี่ยงต่อผู้ขับขี่มากถึง 100 แห่ง รวมถึงการทำให้ป้ายรถเมล์สว่าง ปลอดภัยทุกป้าย การเปลี่ยนไฟถนน 100,000 ดวง เป็นไฟ LED เพื่อให้การมองเห็นดีขึ้น โดยคาดว่าจะเปลี่ยนเพิ่มเป็น 200,000 ดวง ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังมีการปรับปรุงด้านกายภาพ เช่น การเร่งปรับปรุงทางม้าลาย สัญญาณไฟจราจร โดยดำเนินการแล้วกว่า 300 จุด พร้อมทั้งยังบูรณาการและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี การดำเนินการของหน่วยงานรัฐแต่ฝ่ายเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนนด้วย โดยเฉพาะวินัยจราจรและพฤติกรรมการขับขี่ เช่น รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกกันน็อก การหยุดรถให้คนข้ามถนน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งสร้างวินัยจราจรของคนกรุงเทพฯ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่และปลอดภัยอย่างยั่งยืน

ด้านนายฌอง ทอดต์ กล่าวถึงข้อมูลทางสถิติซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก รองจากทวีปแอฟริกา โดยการที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้นำของสถิตินี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างมาก พร้อมระบุว่า 40% ของอุบัติเหตุทางถนนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์และผู้ขับขี่ที่ไม่สวมหมวกกันน็อก ด้วยเหตุนี้ สหประชาชาติจึงได้ตั้งเป้าหมายในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตบนท้องถนนทั่วโลกที่มีอยู่ปีละ 1.2 ล้านคน ลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งเป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่แต่สามารถทำได้ และการจะบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องมีระบบที่ครอบคลุม เช่น ข้อกำหนดความเร็วที่เข้มงวดขึ้น การขยายระบบขนส่งสาธารณะ การให้ความรู้แก่ประชาชน การใช้หมวกกันน็อก ฯลฯ

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200