ตรวจซ้ำรอบ 3 สกัดฝุ่นจิ๋วไซต์งานบางกอกสาทรโฮเทล ชมคัดแยกขยะโรงเรียนทุ่งมหาเมฆ ปั้นสวนสุขใจ @ บ้านแบบ Pocket Park คุมเข้มผู้ค้าหน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย เร่งแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะและคนเร่ร่อนปากซอยเจริญกรุง 61 เขตสาทร

(31 ต.ค.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตสาทร ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการบางกอก สาทร โฮเทล ดำเนินการโดย บริษัท สยามมัลติคอน จำกัด ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 35 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยในวันนี้เป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 3 เพื่อติดตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่องจากเดือนมีนาคมและเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เน้นย้ำผู้ประกอบการให้ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ปูนก่อนออกจากโครงการ เปิดเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบตลอดเวลาการทำงาน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกและรถโม่ปูนตามรอบที่กำหนด ติดป้ายชื่อโครงการบริเวณด้านหน้าให้เห็นเด่นชัด ย้ายเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก และจอแสดงผลที่ติดตั้งอยู่ด้านในออกมาไว้ด้านหน้าทางเข้าออกโครงการ เพื่อให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการและลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ สถานประกอบการ/โรงงาน 35 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง การตรวจวัดควันดำในสถานที่ต้นทาง 3 แห่ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ มีครูบุคลากรและนักเรียน 639 คน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกทิ้งลงถังขยะสำหรับขยะรีไซเคิล เช่น แก้วพลาสติก กระป๋อง 2.ขยะอินทรีย์ คัดแยกใส่ถังขยะแยกประเภทเศษอาหาร นำไปทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ และน้ำหมักชีวภาพ 3.ขยะอันตราย คัดแยกทิ้งในถังขยะที่รองรับขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ยาหมดอายุ 4.ขยะทั่วไป คัดแยกใส่ถังขยะสำหรับขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวัน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 450 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 435 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 5 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงเรียนในการคัดแยกประเภททั่วไป เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามร่างข้อบัญญัติฯ ค่าธรรมเนียม พ.ศ. … (ฉบับใหม่) ดังนี้ 1.ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตร/วัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม/วัน ไม่คัดแยกขยะ คิดค่าธรรมเนียมเต็ม 60 บาท/เดือน ถ้าคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท/เดือน 2.ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม/วัน แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 20 ลิตร หรือ 4 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 120 บาท/หน่วย 3.ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 200 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 8,000 บาท/หน่วย

พัฒนาสวน 15 นาที สวนสุขใจ @ บ้านแบบ ซึ่งสวนดังกล่าวเป็น 1 ใน 72 สวนหย่อมขนาดเล็กในรูปแบบ Pocket Park ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ปรับสภาพพื้นที่ ติดตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่าง อยู่ระหว่างจัดทำทางเดินวิ่ง ลานกิจกรรม สนามเด็กเล่น ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมและลานกีฬาใต้ทางด่วนซอยอยู่ดี พื้นที่ 7 ไร่ 84 ตารางวา 2.สวนหย่อมเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 42 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสวยในสุสานแต้จิ๋ว พื้นที่ 86 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา 2.สวนหลังตลาดแสงจันทร์ พื้นที่ 1 ไร่ 11 ตารางวา 3.ศูนย์เรียนรู้เขตสาทร (โครงการโคกหนองนา ใจกลางเมือง) พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 4.สวนหย่อมสี่แยกถนนเจริญราษฎร์ตัดถนนจันทร์ (Dog Park) พื้นที่ 3 งาน 17 ตารางวา 5.ลานอเนกประสงค์ ศูนย์การค้าวรรัตน์ พื้นที่ 2 งาน 31 ตารางวา 6.สวนหย่อมทางลงทางพิเศษสาทร พื้นที่ 1 ไร่ 95 ตารางวา 7.สวน 15 นาที เจริญสุขใจ พื้นที่ 1 งาน อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ 8.สวนสุขใจ @ บ้านแบบ พื้นที่ 1 ไร่ 88 ตารางวา อยู่ระหว่างปลูกต้นไม้ 9.สวนสุขใจ เจริญราษฎร์ พื้นที่ 1 งาน อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.สวน 15 นาที เจริญสุขใจ เฟส 2 พื้นที่ 128 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน คำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งานอย่างแท้จริง

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 129 ราย ดังนี้ 1.หน้าตลาดเจ.ซี. ถนนจันทน์ ผู้ค้า 42 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 12.00-20.00 น. 2.ปากซอยสาทรใต้ 11 ถนนสาทรใต้ ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.หน้าตลาดกิตติ ถนนจันทน์ 18/7 ผู้ค้า 46 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. 4.หน้าตึกที.พี.ไอ. ถนนจันทน์เก่า ผู้ค้า 15 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. 5.หน้าโรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ซอยเจริญกรุง 57 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. ทั้งนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เขตฯ ได้ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 11 ผู้ค้า 5 ราย 2.ถนนสาทรใต้ ซอย 13 ผู้ค้า 12 ราย ต่อมาในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าเพิ่มเติมอีก 3 จุด ได้แก่ 1.หน้าถนนสวนพลู ผู้ค้า 14 ราย 2.หน้าตลาดสะพาน 2 ผู้ค้า 14 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (สะพานลอยคู่) ผู้ค้า 27 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center บริเวณข้างวัดสุทธิ รองรับผู้ค้าได้ 40 ราย และจัดทำ Hawker Center 100 ห้อง สาทร บริเวณใกล้ทางขึ้นลง BRT อาคารสงเคราะห์ ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ รองรับผู้ค้าได้ 30 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางแผงค้ารุกล้ำเข้ามาในผิวจราจร ขอความร่วมมือให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ติดตามการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณปากซอยเจริญกรุง 61 ถนนเจริญกรุง ซึ่งเขตฯ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการนำขยะมาทิ้งบนทางเท้าบริเวณปากซอยดังกล่าว ส่วนใหญ่จะนำขยะมาทิ้งในช่วงเวลา 03.00 น. ก่อให้เกิดความสกปรกและไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย อีกทั้งกีดขวางทางเท้าในการเดินทางสัญจร นอกจากนี้ยังมีคนเร่ร่อน คนจรจัด มานอนหลับ มาคุ้ยกองขยะ นั่งดมกาว อาจก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้เส้นทางในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บขยะ หรือปรับเปลี่ยนเวลาจัดเก็บขยะในบริเวณดังกล่าวจากช่วงเช้ามืดเป็นช่วงหัวค่ำ ประสานสำนักพัฒนาสังคมลงพื้นที่ตรวจสอบคนเร่ร่อน คนจรจัด รวมถึงให้เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตราพื้นที่เป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงเวลาดังกล่าว กวดขันไม่ให้มีการลักลอบทิ้งขยะ ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะบริเวณดังกล่าวให้เห็นชัดเจน

ในการนี้มี นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายธวัชชัย แพงไทย ผู้อำนวยการเขตสาทร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตสาทร สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200