(31 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการรับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบให้กับกรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
“จากการทดลองนั่งเมื่อสักครู่ รถสามารถใช้งานได้ดี อัตราเร่งดี แอร์เย็น เงียบ ประสิทธิภาพไม่น่ามีปัญหาอะไร ข้อดีคือไม่มีมลพิษ ช่วยลดเรื่อง PM2.5 ได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในระยะแรกอาจจะสูง แต่ค่าไฟถูกกว่าค่าน้ำมัน ทั้งนี้ เรื่องการขยายผลคงต้องดู Financial Model ที่เหมาะสมต่อไป ขอบคุณภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ พัฒนาบุคลากรกรุงเทพมหานคร และฝึกอาชีพให้แก่ผู้ที่สนใจในโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าอนาคตการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ EV ได้มีทางเลือกในการมีรถที่ไม่ปล่อยมลพิษ” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ขึ้นในวันนี้ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
โดยที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทยในการดำเนินงาน “โครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง)” ในช่วงปี 2566 – 2567 ซึ่งได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดยมูลนิธิฯ ได้ถอดบทเรียนจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ Social Lab ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และได้ข้อสรุปว่าปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครมีต้นเหตุมาจากภาคการจราจรและขนส่งทางบก โดยเฉพาะจากรถยนต์ดีเซลเก่าที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี เพื่อลดปัญหาดังกล่าวมูลนิธิฯ จึงได้เสนอแนวทางการดัดแปลงรถยนต์ดีเซลเก่าให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) แก่ทางกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นชอบจึงได้เริ่มดำเนินโครงการโดยคัดเลือกรถยนต์ต้นแบบ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้เลือกใช้รถบรรทุกขนาดเล็ก 4 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ NLR 130 มาเป็นต้นแบบ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นที่ปรึกษาในการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท แจนไนน แมนเนจเม้นท์ จำกัด ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดพิธีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ต้นแบบให้กับกรุงเทพมหานครขึ้นในวันนี้ภายหลังจบการประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการฯ
เนื่องจากเป้าหมายของโครงการฯ คือการเกิด Snowball Effect ถึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรของกรุงเทพมหานครให้มีศักยภาพในการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยได้จัดการฝึกอบรมทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแบบ on the job training ให้กับช่างเทคนิคของกองโรงงานช่างกล หนองแขม สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งจัดทำเอกสารคู่มือเกี่ยวกับการดัดแปลงและบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าและชุดความรู้เพื่อเผยแพร่ต่อไป รวมทั้งได้ร่วมกับโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครจัดทำหลักสูตรอบรม 200 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะสำหรับผู้ที่สนใจในการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
นอกจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแล้ว โครงการฯ ยังได้ริเริ่มการพัฒนาเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล โดยเป็นการนำเครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่ถอดออกจากรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้แก๊สเชื้อเพลิงที่เป็นผลผลิตจากเตาแก๊สซิไฟเออร์ที่ใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งการเกษตรในที่โล่ง ทั้งนี้ เครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวลต้นแบบได้ถูกส่งมอบให้กับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวสามวาตะวันออก ชุมชนอาสาพัฒนา แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล” ต่อไป
ในการดำเนินโครงการฯ ได้ใช้กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม หรือ Social Lab ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายในการหาแนวทางการส่งเสริมมาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการลดฝุ่น PM 2.5 เมืองหลวง ได้แก่ 1. Open Data ในส่วนข้อมูล PM2.5 2. การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย 3. ส่งเสริมการเดินทางลดฝุ่น 4. การสร้างการรับรู้ผ่านเพจ 1Bluesky 5. การจัดประกวดผลงานนวัตกรรมระดับอุดมศึกษา และ 6. การจัดตั้ง “สภาลมหายใจกรุงเทพฯ” นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อใช้ในการเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการปลูกไม้ลดฝุ่น บันทึกข้อมูลต้นไม้ที่ปลูก และจัดทำแผนผังแม่บท (Master Plan) เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับในวันนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการฯ และร่วมพิธีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ต้นแบบให้กับกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ผู้บริหารและผู้แทนจากบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท แจนไนน แมนเนจเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารและผู้แทนจากภาคีเครือข่าย และผู้เกี่ยวข้อง
—————————