(18 ต.ค.67) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตยานนาวา ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณสวนรัชดา-นราธิวาส ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปูแผ่นอิฐทางเดิน ตั้งวางโต๊ะม้านั่ง ปูหญ้า ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับ บำรุงรักษาต้นไม้เดิมที่ล้อมย้ายมาปลูก ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นรวงผึ้ง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น เพิ่มความร่มรื่นภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนคลองช่องนนทรี (สวนเรือโบราณยานนาวา) พื้นที่ 1 ไร่ 10 ตารางวา 2.สวนหย่อมข้างบริษัทกิมง้วน พื้นที่ 40 ตารางวา 3.สวนหย่อมสุขภาพ พื้นที่ 2 งาน 40 ตารางวา 4.สวนริมคลองสวน พื้นที่ 1 งาน 76 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ 1.สวนริมถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาเข้า พื้นที่ 1 งาน 12 ตารางวา 2.สวนริมถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาออก พื้นที่ 96 ตารางวา 3.สวนหย่อมหอนาฬิกา หน้าหมู่บ้านรวยรุ่งเรือง พื้นที่ 1 งาน 4.สวนยานนาวาวัลย์บุปผา (สวนริมคลองวัดดอกไม้) พื้นที่ 1 งาน 42 ตารางวา 5.สวนรัชดา-นราธิวาส พื้นที่ 742 ตารางเมตร 6.สวนคลองมะนาว-รัชดาภิเษก พื้นที่ 1,421 ตารางเมตร 7.สวนพักใจ บริเวณที่ว่างไหล่คลองเลียบถนนพระรามที่ 3 ฝั่งขาเข้า พื้นที่ 2,331 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 8.สวนหน้าโลตัส พื้นที่ 1,380 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนคลองวัดด่าน พื้นที่ 168 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.สวนรัชดาภิเษก-พระรามที่ 3 พื้นที่ 9,900 ตารางเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้เกิดประโยชน์ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำสวน 15 นาที ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่อีกส่วนหนึ่ง จึงมีแนวคิดในการจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติมอีก 4 แห่ง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมเดอะนราธิวาสโฮเทลแอนด์เรสซิเดนท์ ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 24 พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แผนกสจ๊วต ห้องครัวคัดแยกจากต้นทางและนำมาจัดเก็บในห้องขยะเปียก โดยมีเกษตรกรมารับซื้อเพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล แผนกแม่บ้าน แผนกสจ๊วต ห้องครัวคัดแยกจากต้นทาง นำส่งให้ผู้รับผิดชอบคัดแยกขยะรีไซเคิลอีกครั้ง เพื่อจำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลาง 3.ขยะทั่วไป แผนกแม่บ้าน แผนกสจ๊วต ห้องครัวคัดแยกจากต้นทาง นำส่งให้ผู้รับผิดชอบคัดแยกอีกครั้ง เพื่อส่งต่อให้เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย แผนกแม่บ้านคัดแยกจากต้นทาง นำส่งให้ผู้รับผิดชอบจุดพักขยะอันตราย เพื่อส่งต่อให้เขตฯ จัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 269 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนและหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนและหลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงแรมในการคัดแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป เพื่อให้การคัดแยกขยะและการจัดเก็บไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าตลาดรุ่งเจริญ ถนนสาธุประดิษฐ์และถนนรัชดาภิเษก ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 203 ราย ได้แก่ 1.หน้าตลาดรุ่งเจริญ ถนนสาธุประดิษฐ์ ฝั่งถนนสาธุประดิษฐ์ ตั้งแต่สี่แยกรัชดา-สาธุประดิษฐ์ ถึงปากซอยสาธุประดิษฐ์ 37 และฝั่งถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่สี่แยกรัชดา-สาธุประดิษฐ์ ถึงแยกถนนนนทรี ผู้ค้า 152 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 14.00-22.00 น. 2.หน้าตลาดนางลิ้นจี่ ถนนนางลิ้นจี่ ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 309/6 ถึงหน้าอาคารเลขที่ 317/8 ผู้ค้า 33 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 3.หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ตั้งแต่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถึงหน้าตลาดครูหวี ผู้ค้า 18 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-14.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าปากซอยปริยานนท์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย 2.หน้าบริษัทไอซีซี ซอยสาธุประดิษฐ์ 58 ผู้ค้า 19 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ผู้ค้าได้ย้ายมาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้ ผู้ค้าบางส่วนเลิกทำการค้า นอกจากนี้เขตฯ จะยกเลิกจุดทำการค้าอีก 1 จุด คือหน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนพระรามที่ 3 ผู้ค้า 18 ราย กำหนดยกเลิกวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 43 ราย ได้แก่ 1.ซอยสาธุประดิษฐ์ 19 ถนนสาธุประดิษฐ์ ทางเข้าอาคารฟอร์จูนทาวน์ ถึงทางออกอาคารฟอร์จูนทาวน์ ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-20.00 น. 2.ปากซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ถนนสาธุประดิษฐ์ หน้าสถานีบริการน้ำมันเอสโซ่ ถึงซอยสาธุประดิษฐ์ 55 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. ในส่วนของพื้นที่ทำการค้าซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถนนนางลิ้นจี่ ตั้งแต่ซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ถึงซอยนางลิ้นจี่ 3 ผู้ค้า 8 ราย เขตฯ ได้ย้ายผู้ค้าบริเวณดังกล่าว เข้าไปทำการค้าบริเวณที่ว่างด้านข้าง 7-11 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดจากการจอดรถขายสินค้า ซึ่งในปี 2567 เขตฯ จะยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด คือปากซอยสาธุประดิษฐ์ 49 ถนนสาธุประดิษฐ์ ผู้ค้า 22 ราย กำหนดยกเลิกวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยรายหรือกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ โดยให้ผู้ค้าย้ายเข้าไปทำการค้าในจุดเดียวกัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ชลประทานคอนกรีต จำกัด ซอยสาธุประดิษฐ์ 4 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการปรับปรุงรั้วโดยรอบแพลนท์ปูนให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยด้านล่างให้เป็นรั้วทึบ 4 เมตร ด้านบนเป็นรั้วโปร่ง 2 เมตร ปรับปรุงบ่อคายกากคอนกรีตและบ่อตกตะกอนไม่ให้มีตะกอนสะสมจนทำให้น้ำปูนล้นออกมา ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีน้ำปูนหรือเศษหินเศษทรายตกค้าง ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 34 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 8 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 4 แห่ง ประเภทการสะสมซีเมนต์ หิน ดิน ทราย วัสดุก่อสร้าง 1 แห่ง ประเภทอู่รถสองแถว 3 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ในการนี้มี นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตยานนาวา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตยานนาวา สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)