Search
Close this search box.
ไขทุกข้อสงสัยกับ BKK Food Bank มินิมาร์ทแห่งการแบ่งปัน พื้นที่ส่งต่อความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง

 

 

(18 ต.ค. 67) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการดำเนินงานของโครงการ BKK Food Bank โดยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 วัน World Food Day 2024 ที่ผ่านมา มีการกิจกรรม BKK Food Bank ที่สำนักงานเขตดอนเมือง เป็นความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ประกอบการหลายราย ส่งมอบวัตถุดิบทำอาหารให้กับผู้แทนจาก 12 สำนักงานเขต นำไปเปิดครัวประกอบปรุงอาหาร และส่งต่อให้กลุ่มเปราะบาง ซึ่งโครงการนี้เปิดครบ 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ แล้วตั้งแต่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา โอกาสนี้จึงได้รวบรวมคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับ BKK Food Bank พร้อมคำตอบมาให้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการนี้ 

 

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สำหรับ BKK Food Bank อธิบายให้เห็นภาพ ก็เปรียบเสมือนมินิมาร์ทที่แจกจ่ายอาหารและของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ฟรีให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ โดยที่เขาสามารถเข้ามาเลือกสิ่งของได้เอง ซึ่งจะมีการสะสมแต้มคะแนนเพื่อแลกสิ่งของที่ต้องการ เป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและผู้รับเองก็ได้สิ่งของตรงตามความต้องการ โดยของอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ใน BKK Food Bank เป็นของอุปโภคบริโภคส่วนเกินที่ยังสามารถใช้หรือรับประทานต่อได้โดยที่ไม่เป็นอันตราย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน วัตถุดิบประกอบอาหาร อาหารส่วนเกิน (Food Surplus) ฯลฯ จากประชาชนหรือผู้ประกอบการที่อยากส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่กลุ่มเปราะบาง ซึ่งนอกจากเรื่องการแบ่งปันแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการเกิดขยะให้กับเมืองอีกด้วย

 

โดยผู้มีสิทธิไปรับของจาก BKK Food Bank ประกอบด้วย 1.กลุ่มเปราะบางจากการสำรวจ (เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้บ้าน) 2.กลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือในระบบ e-case 3.กลุ่มผู้รับบัตรสวัสดิการของรัฐ 4.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยต่าง ๆ 5.ผู้ที่ว่างงาน 6.เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 7.ผู้ดูแลผู้พิการ/ผู้ป่วยติดเตียง และ 8.อื่น ๆ ตามดุลพินิจของผู้อำนวยการเขต 

 

ถ้าต้องการติดต่อรับของจาก BKK Food Bank มีขั้นตอนดังนี้ 1.ไปที่สำนักงานเขตใกล้บ้านท่าน 2.รายงานตัวรับพาสปอร์ตและคูปอง เพื่อใช้ในการคำนวณวันเข้ารับบริการ (หมายเหตุ ผู้เข้ารับบริการจะได้รับคะแนนครั้งละ 300 คะแนน หากใช้ไม่หมดไม่สามารถสะสมในครั้งถัดไปได้, ผู้เข้ารับบริการสามารถเข้าใช้บริการได้ไม่เกินท่านละ 6 ครั้งต่อปี, ห้ามนำสิ่งของไปขายต่อหากพบจะถูกระงับสิทธิทันที, เลือกสิ่งของตามความต้องการ, รับสิ่งของที่เลือกไว้กลับบ้าน) 

 

สำหรับของที่ Food Bank รับบริจาคแบ่งเป็น 2 หมวด 1.ของกิน (บริโภค) ได้แก่ ข้าวสาร/ข้าวเหนียว ปลากระป๋อง นม น้ำดื่ม น้ำมัน อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนม เครื่องปรุงรส ไข่สด/ไข่ต้ม ผัก/ผลไม้ นมผงเด็ก ยารักษาโรค 2.ของใช้ (อุปโภค) ได้แก่ เวชภัณฑ์ (สำลี ผ้าก๊อซ ผ้าปิดแผล) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป (น้ำยาล้างจาน ล้างห้องน้ำ ปรับผ้านุ่ม) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย (แปรงสีฟัน สบู่ ยาสระผม) ทิชชู่ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป (เด็ก ผู้ใหญ่) ผ้าอนามัย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋าผ้า ถุงผ้า กระติกน้ำ กระบอกน้ำ จาน ชาม ถ้วย เครื่องครัว (หม้อ ตะหลิว ทัพพี กะละมัง) เครื่องใช้ไฟฟ้า (หม้อหุงข้าว พัดลม) อื่น ๆ เช่น ของเล่นเด็ก ของที่ต้องการแบ่งปัน (ไม่รับของมือสองหรือของที่ใช้แล้ว) ฯลฯ

 

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกด้วยว่า หากประชาชนทั่วไปที่ต้องการส่งของมาให้ BKK Food Bank สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ สามารถดูแผนที่ BKK Food Bank และเบอร์ติดต่อสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้ที่ https://greener.bangkok.go.th/bkk-food-bank/


————

 

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200