Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2567

กทม. เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยารองรับสถานการณ์น้ำ จัดหน่วย BEST ช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชม.

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำของ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้จัดทำแผนเฝ้าระวังจุดฟันหลอและเตรียมการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกรณีปริมาณน้ำเหนือหลากและน้ำทะเลหนุนสูง โดยได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ หรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ ตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้ามาในพื้นที่ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น จัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย ทำสะพานทางเดินชั่วคราว พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง แจกจ่ายยารักษาโรค ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์น้ำขึ้นลงเป็นระยะ ๆ ตามตารางน้ำขึ้นน้ำลงของกรมอุทกศาสตร์ ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งและคลองสนามชัย (พื้นที่ธนบุรีตอนล่าง) ตามโครงการแก้มลิงมหาชัย-สนามชัย แล้วระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและคลองชายทะเลบางขุนเทียน รวม 1,279.25 ลูกบาตรเมตร/วินาที จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตามจุดอ่อน หรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ทันที อีกทั้งจัดเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและเข้าตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงในช่วงที่มีน้ำขึ้น

สำหรับแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่มีระดับคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กทม. ได้จัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว โดยบริเวณที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างปิดแนวฟันหลอและอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ รวมถึงช่องเปิดท่าเรือต่าง ๆ ได้จัดเรียงกระสอบทราย ความสูง +2.40 ถึง +2.70 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) ความยาว 4.35 กิโลเมตร (กม.) โดยใช้กระสอบทราย 248,300 ใบ

ส่วนแนวป้องกันน้ำท่วมริมเเม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวรวม 88 กม. เเบ่งเป็น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ความยาว 80 กม. โดยความยาวรวม 8.0 กม. แบ่งเป็น แนวป้องกันตนเองที่มีความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมได้ ความยาว 3.65 กม. และจุดแนวฟันหลอ ความยาวรวม 4.35 กม. ซึ่งจะต้องเร่งก่อสร้างทั้งหมด 32 เเห่ง ได้ก่อสร้างเเล้วเสร็จ 14 เเห่ง ความยาว 1.43 กม. อาทิ ท่าเรือเทเวศร์ องค์การสะพานปลา และชุมชนวังหลัง เป็นต้น คงเหลือจุดแนวฟันหลออีก 18 เเห่ง ความยาว 2.92 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 11 เเห่ง ความยาว 1.75 กม. เช่น พระรามที่ 3 ซอย 24 เเยกเจริญราษฎร์ และองค์การสะพานปลา เป็นต้น และอยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณ 7 เเห่ง ความยาว 1.17 กม. เช่น วัดจันทร์สโมสร ชุมชนโรงสี และคลังเก็บเอกสารกรุงไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ กทม. มีแผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2567 โดยลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงลดระดับน้ำในแก้มลิงอีก 35 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร 2 จุด รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 17 คัน รถโมบายยูนิต 9 คัน เครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 99 เครื่อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ดีเซล 80 เครื่อง เครื่องสูบน้ำหางอ่อน 17 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง และหน่วยบริการเร่งด่วน (หน่วย BEST) เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็ว ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ได้แก่ การล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำความยาว 4,309.6 กม. ขุดลอกคูคลอง 184 คลอง เปิดทางน้ำไหล 1,330 คลอง จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงแก้ไขสิ่งกีดขวาง ทางน้ำบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 นอกจากนี้ ปลัด กทม. ยังได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตสำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาทันที

กทม. เร่งซ่อมถนนทรุดตัวบริเวณคอสะพานเกษะโกมลภายใน 5 วัน

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุกรณีถนนบริเวณคอสะพานเกษะโกมล ถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ทรุดตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่ว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 67 เวลาประมาณ 20.00 น. สนน. ได้รับแจ้งจากตำรวจจราจร สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ดุสิตว่า ได้เกิดเหตุถนนทรุดตัวบริเวณคอสะพานเกษะโกมล ถนนอำนวยสงคราม เขตดุสิต เจ้าหน้าที่ของ สนน. และผู้รับจ้าง ได้เร่งเข้าตรวจสอบพื้นที่พบว่า บริเวณคอสะพานเกษะโกมล ด้านที่ติดกับถนนพระรามที่ 5 ทรุดตัวประมาณ 20-30 เซนติเมตร จึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรขอให้ปิดกั้นถนนไม่ให้รถวิ่งผ่านทันที เพื่อป้องกันอันตรายกับประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรและในระหว่างตรวจสอบสาเหตุการทรุดตัว มีน้ำประปาใต้ถนนรั่วไหลขึ้นมาบนผิวจราจรจำนวนมากและถนนเริ่มทรุดตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งภายในช่วงระยะเวลาประมาณ 30 นาที ได้เกิดเป็นหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณ 10 เมตร ยาว 5 เมตร และลึก 3 เมตร จากการตรวจสอบสาเหตุและสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรแจ้งว่า สะพานเกษะโกมลเป็นถนนที่มีประชาชนใช้งานจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากการตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นของการทรุดตัวคาดว่า อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น งานก่อสร้างเขื่อนดาดท้องคลองที่มีการขุดดินท้องคลองลึกกว่าท้องคลองเดิม อายุการใช้งานของสะพาน ซึ่งก่อสร้างมานาน มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ใช้งานสะพานจำนวนมากและมีท่อประปาขนาด 300 มิลลิเมตร (ในผิวจราจร) ซึ่งเป็นท่อประปาใยหินที่ใช้งานมาเป็นเวลานาน

ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สนน. สำนักงานเขตดุสิต และตำรวจจราจร สน. ดุสิต ได้แจ้งปิดสะพานเกษะโกมลชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมถนนทรุดตัว อย่างไรก็ตาม การปิดสะพานดังกล่าวยังคงเปิดช่องทางให้ประชาชนเดินข้ามสะพานและถนนได้ตามปกติ พร้อมทั้งปิดกั้นพื้นที่ ติดตั้งไฟ ป้ายเตือน และสัญญาณป้องกันอันตราย และได้ประสาน จส.100 เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางถนนอำนวยสงคราม ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักการโยธา (สนย.) การไฟฟ้านครหลวง และการประปานครหลวงวางแผนจัดซ่อมสะพาน ผิวจราจร และระบบสาธารณูปโภค โดย สนน. ได้เร่งเทคอนกรีตดาดท้องคลองใต้สะพานเกษะโกมล (ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ) และก่อสร้างกำแพงกันดิน (ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ) นอกจากนี้ จะดำเนินการก่อสร้างผนังกันดินและจัดซ่อมผิวจราจรบริเวณคอสะพาน โดยคาดว่า จะใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 – 11 ต.ค. 67 (5 วัน)

ทั้งนี้ สนน. อยู่ระหว่างดำเนินการงานก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร จากซอยวัดประชาระบือธรรมถึงคลองสามเสน พื้นที่เขตดุสิต ซึ่งมีปริมาณงานก่อสร้างเขื่อนดาดท้องคลอง ความยาว 2,000 เมตร และงานดาดท้องคลองใต้สะพาน 17 แห่ง โดยงานดาดท้องคลองใต้สะพาน สนน. ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 16 แห่ง คงเหลืองานดาดท้องคลองใต้สะพานเกษะโกมลอีก 1 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนั้น สนน. มีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยจะประสาน สนย. ให้จำกัดน้ำหนักบรรทุกให้เหมาะสมกับสภาพและความมั่นคงแข็งแรงของสะพานข้ามคลอง พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือตรวจสอบสะพานข้ามคลองที่มีอายุการใช้งานมาเป็นเวลานานตามพื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ เพื่อวางแผนดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมต่อไป

นายเทียนชัย วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการเขตดุสิต กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตดุสิตได้ลงพื้นที่ร่วมกับ สนย. สนน. และ สน. ท้องที่ เพื่อตรวจสอบเหตุดังกล่าวทันที รวมถึงได้อำนวยความสะดวกจราจรในการเข้าแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมรายงานสถานการณ์ความคืบหน้าให้ประชาชนในพื้นที่ทราบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการเร่งแก้ไขปัญหาของ กทม. ขณะเดียวกันในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ซ่อมแซมถนนที่ทรุดตัว เพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้เส้นทางดังกล่าว กทม. ได้ปิดกั้นพื้นที่ทันที เพื่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ แต่ยังคงเปิดช่องทางให้ประชาชนเดินข้ามสะพานและถนนได้ตามปกติ เพื่อลดผลกระทบจากการใช้เส้นทาง และสำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับ สน. ท้องที่ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ลงพื้นที่หารือเรื่องการปล่อยสัญญาณจราจรและการเบี่ยงเส้นทางสำหรับรถส่วนตัวและรถสาธารณะ พร้อมตรวจสอบความคืบหน้าการแก้ไขเหตุถนนทรุดร่วมกับผู้รับจ้างของสำนักการระบายน้ำเป็นระยะ เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ คาดว่าการดำเนินการแก้ไขเหตุดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายใน 5 วัน
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทาง แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางในทุกแพลตฟอร์ม และติดตั้งป้ายไวนิลร่วมกับ สนน. เพื่อประชาสัมพันธ์การหลีกเลี่ยงเส้นทาง จำนวน 10 จุด ดังนี้ (1) ถนนพระราม 5 ปากซอยระนอง 1 (2) ถนนเศรษฐศิริ มุ่งหน้าแยกเกษะโกมล (3) สี่แยกราชวัตร (4) ถนนอำนวยสงคราม มุ่งหน้าสามแยกพิชัย (5) ถนนพิชัย มุ่งหน้าสามแยกพิชัย (6) ถนนสามเสน มุ่งหน้าแยกบางกระบือ (7) แยกบางกระบือ (8) ถนนร่วมจิตต์ มุ่งหน้าแยกตัดถนนอำนวยสงคราม (9) ถนนอำนวยสงคราม มุ่งหน้าสะพานเกษะโกมล และ (10) แยกเกษะโกมล ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้สอดส่องดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากประชาชนพบความผิดปกติ หรือเกิดเหตุสามารถแจ้งปัญหา ข้อสังเกต หรือเหตุฉุกเฉินผ่านระบบ Traffy Fondue และ Line Official Account ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อบริหารจัดการปัญหาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200