Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2567

กทม. เฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด 19 ในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สถานสงเคราะห์คนชรา

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักสำนักอนามัย (สนอ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีแพทย์เตือนเฝ้าระวังผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มขึ้นหลังสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค. นี้ว่า สนอ. มีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เตียงรักษา ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ระบบการส่งต่อ ฯลฯ เพื่อรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเกิดปัญหาทางสุขภาพได้ง่าย โดยเน้นเฝ้าระวังที่โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน สถานสงเคราะห์คนชรา และสถานพยาบาลที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ตลอดจนเพิ่มความเข้มข้นมาตรการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีโอกาสเกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่ากลุ่มอื่นหากติดเชื้อโควิด 19

อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนบุคคลยังเป็นปัจจัยหลักในการป้องกันโรคโควิด 19 ได้แก่ การล้างมือบ่อย ๆ และการสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ อยู่ใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็กเล็ก อยู่ในพื้นที่ หรือกิจกรรมเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและรับเชื้อโควิด 19 ตลอดจนป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ การเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาดลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงเน้นย้ำให้สมาชิกในครอบครัวปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่ม 608 เพื่อความปลอดภัยจากโรคโควิด 19

 

 

กทม. แนะประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ ลดความเสี่ยงเจ็บป่วยในช่วงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวนว่า สนอ. มีมาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิธีดูแลรักษาสุขภาพ และสุขอนามัย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ในช่วงที่สภาพอากาศแปรปรวน โดยช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง จะส่งผลให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลง จึงควรรับประทานอาหารมีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานร้อนและปรุงสุก รับประทานผลไม้สดที่อุดมด้วยวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอ มะขามป้อม มะขามเทศ สตรอเบอร์รี่ พลับ จะช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่เค็มจัด หวานจัด มันจัด งดของมึนเมา งดสารเสพติด งดสูบบุหรี่ ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว การดื่มน้ำจะช่วยรักษาสมดุลของร่างกายไม่เป็นหวัดง่าย ทั้งยังช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากร่างกายปรับตัวต่อสภาพอากาศแปรปรวนไม่ทัน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หัด และโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ที่มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงอากาศเย็น ขอให้ประชาชนระมัดระวัง ดูแลสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย จึงควรดูแลร่างกายของตนเองให้แข็งแรง หากครอบครัวที่มีเด็กทารกเน้นย้ำให้ดื่มนมแม่เป็นประจำ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ทารกแรกเกิด – 6 เดือน หลังจากนั้นสามารถให้นมแม่ควบคู่อาหารตามวัย สำหรับกลุ่มวัยอื่นควรรักษาความอบอุ่นของร่างกายสม่ำเสมอ ไม่สวมเสื้อผ้าเปียกชื้นโดยเฉพาะช่วงที่มีฝนตก พกร่มและเสื้อกันฝนติดตัว หากมีอาการผิดปกติสามารถรับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ์

เขตยานนาวารุดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าหน้าตลาดรุ่งเจริญ พร้อมแก้ไขผิวจราจรชำรุด

นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตยานนาวา กทม. กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนตลาดรุ่งเจริญ ย่านสาธุประดิษฐ์ไม่เป็นระเบียบ ผู้ค้าตั้งวางสิ่งของบนทางเท้า สภาพภูมิทัศน์โดยรอบสกปรก รวมทั้งถนนหน้าตลาดรถไม่หยุดให้คนข้ามถนนว่า จากการตรวจสอบตามข้อร้องเรียนดังกล่าวพบว่า บริเวณผู้ค้าตั้งวางสิ่งของบนทางเท้าเป็นจุดผ่อนผันให้ทำการค้า มีผู้ค้า 152 ราย ทำการค้าระหว่างเวลา 14.00 – 22.00 น. มีผู้ค้าขายสินค้าประเภทเสื้อผ้า อาหารกล่องสำเร็จรูป ดอกไม้สด และสินค้าเบ็ดเตล็ด โดยสำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา กวดขัน และประชาสัมพันธ์ไม่ให้ตั้งวางยื่นล้ำเส้นกำหนดพื้นที่ทำการค้ากีดขวางทางสัญจรของประชาชน และดูแลรักษาความสะอาดระหว่างทำการค้าและหลังทำการค้า หากพบว่า ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ปฏิบัติตามให้พิจารณายกเลิกพื้นที่ทำการทำการค้าบริเวณดังกล่าวทันที

สำหรับกรณีผิวจราจรชำรุดมีน้ำขัง รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในการข้ามถนนเนื่องจากบริเวณดังกล่าวไม่มีสะพานลอยคนเดินข้าม ซึ่งปัจจุบันสำนักการโยธา กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงทางเท้าริมถนนสาธุประดิษฐ์ ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำขังเวลาฝนตก ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการซ่อมแซมผิวการจราจรในจุดที่ชำรุดไม่ให้มีน้ำขัง พร้อมทั้งประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) บางโพงพาง และจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกการจราจรบริเวณทางม้าลายคนข้ามถนนปากซอยสาธุประดิษฐ์ 34 เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน

 

 

เขตห้วยขวางจับมือหลายหน่วยงานตรวจสอบสถานประกอบการย่านรัชดาฯ

นายอุกฤษฏ์ องตระกูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม. ตรวจสอบแบบอาคารของสถานประกอบการย่านรัชดาภิเษก โดยเฉพาะร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีเจ้าของเป็นกลุ่มคนจีนว่า สำนักงานเขตฯ ได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมและกำกับดูแลสถานประกอบการของผู้ประกอบกิจการต่างชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามข้อสั่งการของผู้บริหาร กทม. โดยประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 10 สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ในพื้นที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในกรุงเทพมหานคร (กอ.รมน.กทม.) พร้อมด้วยส่วนราชการภายในสำนักงานเขตห้วยขวาง ตรวจสถานประกอบการของผู้ประกอบกิจการต่างชาติ ประเภทสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารและกิจการประเภทอื่น ๆ ในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจสอบเรื่องการขออนุญาตเปิดร้านอาหาร การเสียภาษีป้าย การแสดงฉลากอาหาร การขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการจดทะเบียนบริษัทและการเสียภาษี

สำหรับกรณีสถานที่สะสมอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ตจีน ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ (กก.4) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ตรวจสอบสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมยึดผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดที่ไม่ถูกต้องและเอกสารหลักฐานมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. เป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดแล้ว ส่วนกรณีการขออนุญาตประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและแนะนำการขออนุญาตประกอบการ หากรายใดที่ยังไม่ได้รับอนุญาตหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขจะออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้ระงับการประกอบกิจการจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งหากรายใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบด้านสุขลักษณะและความปลอดภัยของสถานประกอบการ พร้อมให้คำแนะนำสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 และข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 พร้อมกำชับให้เข้มงวดตรวจตราสถานประกอบการของผู้ประกอบกิจการต่างชาติในพื้นที่รับผิดชอบให้ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันเหตุเดือดร้อนรำคาญและเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมถึงการขอใบอนุญาตก่อสร้างและการดัดแปลงอาคาร ระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารสถานประกอบการ สำนักงานเขตฯ จะได้ร่วมกับสำนักการโยธา กทม. ตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

          
แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200