(1 ต.ค. 67) เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พลเอก พระวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมศึกยุคล เป็นผู้แทนพระองค์ ไปวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง และพวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ถวายราชสักการะพระบรมรูประบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ หน้าพระราชวังสราญรมย์ เขตพระนคร โดยมี นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและข้าราชการกรุงเทพมหานคร เฝ้ารับเสด็จ
วันเดียวกันนี้ เวลา 13.15 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้ นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารและข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ผู้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาตินานัปการ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ หน้าพระราชวังสราญรมย์ ด้วย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จ ทรงพระราชสมภพ วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) และทรงเป็นพระราชนัดดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
เมื่อพ.ศ. 2367 ได้เสด็จออกผนวชเป็นเวลา 27 พรรษา ระหว่างทรงอยู่ในสมณเพศ ได้สนพระราชหฤทัยศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ปรากฏในพงศาวดารว่า ได้เป็นเปรียญ ในพ.ศ. 2394 ได้ทรงลาผนวชเนื่องจากพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ ได้อัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำนุบำรุงอาณาประชาราษฎร์และศาสนา และทรงได้รับยกย่องในพระราชสมัญญานามว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เนื่องจากทรงพระปรีชาสามารถและอัจฉริยะทางดาราศาสตร์ ทรงศึกษาโดยพระองค์เองจากตำราไทยและมอญ ซึ่งแปลจากตำราโบราณของฮินดู และทรงศึกษาตำราดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์จากยุโรป จนสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าถึง 2 ปีว่า จะเกิดสุริยุปราคาเต็ม ดวงในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 และเห็นได้อย่างชัดเจนในประเทศไทยที่บ้านคลองลึก ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์นั้นทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่ปรากฏไว้ในอดีตอย่างมากมาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นเวลา 17 ปี 6 เดือน เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 พระชนมพรรษา 65 พรรษา